ตลาดอาหารฮาลาล หรืออาหารปลอดภัยที่ผลิตตามหลักการของศาสนาอิสลาม ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปีอย่างมีนัยสำคัญ จากจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจุบันตลาดฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จูงใจให้ทุกประเทศผู้ผลิตสินค้าและบริการแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงตลาดนี้ ซึ่งรวมถึงสินค้าไก่ฮาลาลของไทยที่กำลังเร่งขยายตลาด
นายมานิจ วิบูลย์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเฮอริเทจ บรีดดิ้ง จำกัด เจ้าของมานิจฟาร์ม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่บริษัทเอซีเอฟแอนด์ อาระเบีย โฮลดิ้ง จำกัด (บจก.) ในเครือ ACF & TANAOSREE GROUP จากประเทศซาอุดีอาระเบียได้มาเปิดโรงงานแปรรูปไก่ในไทย โดยใช้พื้นที่โรงงานชำแหละ บจก. ตะนาวศรีไก่ไทย จังหวัดนครปฐม มีกำลังการผลิต (เชือด) ตามหลักการของศาสนาอิสลามวันละ 1.2 แสนตัว โดยบริษัทมีนโยบายให้ใช้พันธุ์ไก่ไทยคือพันธุ์สยามบรอยเล่อร์ของมานิจฟาร์ม ให้เป็นไก่สำหรับโลกมุสลิม ซึ่งโรงงานได้เปิดตัวแล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
“คาดในอีก 2 ปีข้างหน้าไก่พันธุ์สยามบรอยเล่อร์ ชาวมุสลิมหรือผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีมากกว่า 2,000 ล้านคน จะได้รับประทานไก่เนื้อพันธุ์ไทย ซึ่งทางฟาร์มได้แจ้งแผนการผลิตพร้อมโชว์ศักยภาพทำได้ถึง 3,300 ล้านตัวในระยะเวลา 1 ปี จากตัวปู่ย่าพันธุ์ 1,500 ตัว แต่ทางซาอุฯ ไม่ได้ตื่นเต้นในเรื่องปริมาณไก่ เพราะโลกมุสลิมรับประทานคนละตัวต่อปีก็หมดแล้ว”
นายมานิจ กล่าวอีกว่า บริษัท เอซีเอฟ แอนด์ อาระเบีย โฮลดิ้ง ยังมีแผนให้บริษัทไปตั้งศูนย์การกระจายพันธุ์ไก่ไข่ในประเทศต่างๆ โดยให้ทางมานิจฟาร์มเป็นหุ้นส่วน อาทิ ใน ซาอุฯ ซูดาน หรือในประเทศอื่น ๆ ที่ทางซาอุฯมีเครือข่าย ขณะเดียวกันในส่วนของพันธุ์ไก่ไข่ เพื่อให้ไข่ไก่ มีความแตกต่างจากไข่ไก่ทั่วไป บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาพันธุ์ไก่ไข่เพื่อให้มีรสชาติที่แตกต่างจากไข่ไก่ทั่วไป เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค อีกทั้งจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่สนใจอยากจะมาเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อทำตลาดนิช มาร์เก็ต (Niche Market)
“สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อตอกยํ้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและพันธมิตร บริษัทยังได้รับการประเมินและได้รับใบรับรองจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องพันธุกรรมไก่ มีมูลค่ามากกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท อาทิ พันธุ์ไก่ไข่ (พันธุ์แท้) ไม่ตํ่ากว่า 70 สายพันธุ์ เพื่อนำมาผลิต GP ในเวอร์ชั่นต่างๆ ตามความต้องการของเกษตรกร และพันธุ์ไก่เนื้อ 42 สายพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งจากที่จะมีการประเมินทุก 2 ปี คาดมูลค่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี”
นายมานิจยังเผยถึงความคืบหน้าหลังจากที่บริษัทได้เซ็นเอ็มโอยู (6 ธ.ค.66) ขายพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ -ไก่เนื้อ ให้ตัวแทนบริษัทจากบังกลาเทศว่า ล่าสุดได้เตรียมปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) จำนวน 28,000 ตัว เพื่อส่งมอบตามสัญญาล็อตแรกในเดือนมิถุนายนนี้
ขณะเดียวกันทางเครือซีพี ได้มาขอซื้อลูกไก่เนื้อพันธุ์สยามบรอยเล่อร์ (SiamBroiler) จำนวน 2 หมื่นตัว จากบริษัทฯ ไปทดลองเลี้ยงแล้ว ทั้งนี้เพื่อดูประสิทธิภาพการเจริญเติบโต และความคุ้มค่า คาดจะนำสินค้าไปจำหน่ายในร้าน KFC หรือไก่ย่างห้าดาว ซึ่งต้องรอดูว่าลูกค้ารับประทานแล้วจะชอบหรือไม่
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,976 วันที่ 21-23 มีนาคม พ.ศ. 2567