ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 20 สิงหาคม 2567 ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำปี 2567-2570 ที่ได้ถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้งบประมาณ 450 ล้านบาท โดยกรมประมงได้บูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันกำจัด เพื่อหยุดการแพร่พันธุ์ของประชากรปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่ มีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน (5 ล้าน กก.) ในแหล่งนํ้า 19 จังหวัดภายในปี 2570
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” หนึ่งในองค์กรภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนกรมประมงได้ระดมทุกสรรพกำลังในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหานี้ ผ่านแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 โครงการ เพื่อกำจัดและควบคุมประชากรปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง ส่งผลให้ปริมาณปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ลดลงอย่างเป็นรูปธรรม
นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟได้สนับสนุนกรมประมงดำเนิน 5 โครงการความร่วมมือกำจัดปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์ การบริโภค ควบคู่การศึกษาและวิจัยหานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สามารถตัดวงจรปลาหมอคางดำได้ ซึ่งแต่ละโครงการมีความคืบหน้า ปริมาณปลาที่ถูกกำจัดด้วยวิธีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยซีพีเอฟยังเดินหน้าต่อเพื่อหยุดยั้งการแพร่พันธุ์ปลาหมอคางดำ และร่วมฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศและทรัพยากรสัตว์นํ้าของแหล่งนํ้า
โดยโครงการที่ 1 ร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่พบปลาชนิดนี้ จำนวน 2 ล้าน กก.ในราคา 15 บาทต่อ กก. เพื่อนำมาผลิตเป็นปลาป่น ที่ผ่านมาบริษัทได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก “โรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี” จ.สมุทรสาคร ช่วยรับซื้อปลา พร้อมกับสร้างเครือข่ายแพปลาเป็นจุดรับซื้อและอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรสามารถนำปลามาขายได้ ถึงวันนี้ โรงงานเปิดรับซื้อไปแล้วกว่า 800,000 กก. โดยซีพีเอฟยังขยายจุดรับซื้อในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม
นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี กล่าวว่า ปัญหาปลาหมอคางดำต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกัน การนำปลาชนิดนี้มาทำปลาป่นเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ เป็นการใช้กลไกทางการตลาดมาช่วยลดประชากรปลาชนิดนี้ในแหล่งนํ้าให้มากที่สุด นอกจากปลาที่จับได้จากพื้นที่สมุทรสาคร โรงงานยังรับซื้อปลาจากทุกจังหวัดใกล้เคียง ขณะนี้มีผู้รวบรวมปลาจากสมุทรสงคราม สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ เข้ามาขายที่โรงงานต่อเนื่อง ล่าสุดจำนวนปลาหมอคางดำที่จับได้เริ่มลดลงแล้ว ส่งผลให้การนำส่งปลาให้กับโรงงานปลาป่นเริ่มลดลงด้วย
โครงการที่ 2 สนับสนุนปลาผู้ล่า 200,000 ตัวเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งนํ้าภายใต้แนวทางของกรมประมง เพื่อช่วยกินลูกปลาหมอคางดำในแหล่งนํ้า ซีพีเอฟได้ส่งมอบปลากะพงขาวขนาด 4 นิ้วขึ้นไปให้กับประมงจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร จันทบุรี และระยอง ไปแล้วรวม 64,000 ตัว
โครงการที่ 3 ให้ความร่วมมือกับประมงจังหวัดและชุมชนกิจกรรม “ลงแขกลงคลองบริษัทร่วมมือกับกรมประมงบูรณาการเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งนํ้าโดยเร็วที่สุด” โดยจัดหาอุปกรณ์จับสัตว์นํ้า รวมถึงอาหาร และนํ้าดื่มให้ผู้ร่วมกิจกรรม ที่ผ่านมาบริษัทได้ประสานงานกับประมงจังหวัดจัดลงแขกลงคลองแล้ว 13 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี จันทบุรี ระยอง และชลบุรี สามารถจับปลาออกจากแหล่งนํ้าได้มากกว่า 13,000 กก.
โครงการที่ 4 ร่วมกับสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อหาแนวทางการใช้ประโยชน์ปลา โดยเฉพาะการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นการส่งเสริมการบริโภคปลาชนิดนี้ให้มากขึ้น
โครงการที่ 5 ร่วมสนับสนุนการทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสจล. เพื่อหาแนวทางหรือนวัตกรรมควบคุมประชากรปลาและหยุดยั้งการแพร่พันธุ์ในระยะยาว และยังขยายความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมสนับสนุนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขับเคลื่อนมาตรการจัดการปลาหมอคางดำ โดยนำถังพลาสติกใช้แล้วขนาด 1,000 ลิตรจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ส่งให้กับสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด เพื่อใช้ในโครงการผลิตนํ้าหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งความร่วมมือของซีพีเอฟ และทุกภาคส่วนได้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิผลสูง
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,022 วันที่ 29 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2567