"พาณิชย์” สำรวจห้างดังสหรัฐฯ "Trader Joe’s" เร่งเพิ่มช่องทางการตลาด

03 ก.ย. 2567 | 06:33 น.
อัพเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2567 | 07:06 น.

“พาณิชย์” สำรวจ Trader Joe’s ห้างดังในสหรัฐฯ จำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์มากกว่า 500 สาขา นำเข้าสินค้าจากไทยซอสปรุงรส น้ำมะพร้าว และผลไม้อบแห้ง ได้รับความนิยม เร่งขยายช่องการตลาดเพิ่ม สร้างความสัมพันธ์กับบริษัทตัวแทนหรือเอเย่นต์ของห้างในประเทศ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเดินทางไปสำรวจตลาด และศึกษาแนวทางการขยายตลาดสินค้าไทยในห้าง Trader Joe’s ร่วมกับทีมพาณิชย์ จากการสำรวจตลาด พบว่า ห้างมีการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากไทย ภายใต้แบรนด์ของ Trader Joe’s เป็นจำนวนมาก อาทิ

อาหารแช่แข็งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ข้าวผัดกุ้ง ผัดไท ข้าวแกงเขียวหวาน ขนมขบเคี้ยว เช่น ไอศกรีมโมจิ ผลไม้อบแห้ง ซอสพริกแดง พริกเหลือง น้ำจิ้มไก่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์พริกมะนาว เป็นต้น

\"พาณิชย์” สำรวจห้างดังสหรัฐฯ \"Trader Joe’s\"  เร่งเพิ่มช่องทางการตลาด

สำหรับสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ ซอสปรุงรส น้ำมะพร้าว และผลไม้อบแห้ง ซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่ดูแลตลาดสหรัฐฯ เดินหน้าแสวงหาลู่ทางการขยายตลาดสินค้าไทย 

โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทตัวแทนหรือเอเย่นต์ของห้างในเพื่อเป็นผู้เชื่อมโยงในการหาสินค้า และความต้องการของห้างป้อนสินค้าสู่ตลาดรวมถึงศึกษาโอกาสของสินค้าไทยเพื่อเข้าไปทดแทนสินค้าของคู่แข่งโดยเฉพาะสินค้า OTOP ไทย เช่น ผลไม้อบแห้ง ทั้งมะม่วง สับปะรด กล้วย มะพร้าว

ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในคุณภาพ เพื่อที่จะได้วางแผนในการส่งเสริมและผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ รวมทั้งให้เดินหน้าเจรจากับผู้บริหารของห้าง และผลักดันให้สินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในห้างได้เพิ่มขึ้นต่อไป

\"พาณิชย์” สำรวจห้างดังสหรัฐฯ \"Trader Joe’s\"  เร่งเพิ่มช่องทางการตลาด

ทั้งนี้ บริษัท Trader Joe's เป็น Chain Grocery Store ปัจจุบันมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศสหรัฐฯ ประมาณ 569 สาขาใน 43 มลรัฐ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐ California วัตถุประสงค์หลักของบริษัท คือ การเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีที่สุดในราคาที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าห้าง Trader Joe’s แห่งแรก เปิดในปี 2510 ณ เมืองแพซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย 

Trader Joe's เป็นห้างสรรพสินค้าที่ทำอะไรง่าย ๆ ไม่มีส่วนลด ไม่มีการสะสมคะแนนหรือระบบสมาชิกใด ๆ มีการดำเนินนโยบาย อาทิ การพยายามสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง โดยไม่ผ่าน Brokers / ตัวกลาง การซื้อสินค้าในปริมาณมาก และทำสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้า เพื่อให้ได้ราคาดีที่สุด 

และหากสินค้าใดที่ไม่เป็นที่นิยมของลูกค้า จะถูกดึงออกจากชั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนการที่ Trader Joe’s ไม่มีนโยบายเก็บค่าวางขายสินค้า (Slotting Fee) ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น ซึ่ง Chain Grocery Store ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะมีค่าธรรมเนียมดังกล่าว

\"พาณิชย์” สำรวจห้างดังสหรัฐฯ \"Trader Joe’s\"  เร่งเพิ่มช่องทางการตลาด

นอกจากนี้ ห้างค้าปลีก Trader Joe’s นำเข้าสินค้าที่มีเอกลักษณ์และน่าสนใจจากหลายประเทศ ส่วนมากในรูปแบบ OEM ทั้งไทย เกาหลี ญี่ปุ่น จีน เม็กซิโก อิตาลี ฝรั่งเศส และอื่น ๆ ภายใต้แบรนด์ของ Trader Joe's กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคชาวอเมริกันรุ่นใหม่ โดยในปี 2566 มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 20 พันล้านดอลลาร์ หรือ 720 พันล้านบาท และยังมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์