เศรษฐกิจเวียดนาม แนวโน้มโตสูง ความท้าทายไทยบนเวทีแข่งขันการค้า

01 ก.ย. 2567 | 00:00 น.

ส่องเศรษฐกิจเวียดนาม เช็คความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ระหว่างไทย-เวียดนาม เร่งพัฒนาดึงการลงทุน ชูจุดแข็งแรงงานราคาถูก-ตลาดในประเทศยังคงขยายตัว

KEY

POINTS

  • ภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนาม 6 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 6.42% และคาดการณ์ว่าแนวโน้มช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะเติบโตระหว่าง 6.0-6.5%
  • การแข่งขันทางการค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม ด้านต้นทุนการผลิต ไทยมีต้นทุนแรงงานที่สูง ขาดแคลนด้านแรงงาน ขณะที่ เวียดนาม มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าและมีแรงานในวัยทำงานจำนวนมาก 
  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไทย มีการพัฒนาการขนส่งและโลจิสติกส์ราคาค่าขนส่งถูกกว่า ขณะที่เวียดนาม กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือและการขนส่งทางบกยังมีค่าใช้จ่ายสูง

 

นางสาวธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เศรษฐกิจเวียดนาม มีแนวโน้มเติบโตเป็นบวกในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 แต่ก็ยังมีความท้าทายหลายเรื่องทั้ง แรงกดดันเงินเฟ้อ และค่าแรงขั้นต่ำ ที่จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2566 เพิ่มขึ้น 5.05% มีมูลค่า 430,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมี GDP เฉลี่ยต่อหัว 4,284 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 160 ดอลลาร์สหรัฐ โดยโครงสร้างเศรษฐกิจในปี 2566 แบ่งออกเป็น

  • ภาคการเกษตร การป่าไม้ และประมงมีสัดส่วน 11.96% 
  • ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง มีสัดส่วน 37.12%
  • ภาคบริการ มีสัดส่วน 42.54% 
  • ภาษีสุทธิอื่น ๆ ของการผลิต มีสัดส่วน 8.38%
     

นางสาว ธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย

 

ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้น 6.42% โดยภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง สัดส่วน 11.55% ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง สัดส่วน 36.44% ภาคบริการ สัดส่วน 43.35% และภาษีทางอ้อมหักเงินอุดหนุน สัดส่วน 8.66%

ทั้งนี้ประเมินว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตเป็นบวกในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะเติบโตระหว่าง 6.0-6.5% จากการฟื้นตัวของภาคการผลิตในประเทศและการส่งออก 

นางสาวธนียา กล่าวว่า เศรษฐกิจเวียดนาม ยังคงพบกับความท้าทายต่างๆ เช่น แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของการขึ้นเงินเดือนพื้นฐานและค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค 2567 ความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว ซึ่งจะทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของเวียดนามลดลงด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2566 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 3.25% ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) เพิ่มขึ้น 1.5% ยอดขายปลีกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 9.6% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 4.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรเวียดนามในปัจจุบันมี 100.3 ล้านคน 

ประกอบกับแนวโน้มกำลังซื้อผู้บริโภคเวียดนามที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอัตราการขยายการบริโภค และการขยายของสังคมเมือง ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนของเวียดนามมีสัดส่วนกว่า 70% ของ GDP

การค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของเวียดนาม ใน 6 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าการค้า 369,623 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออก 190,735 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.9% และการนำเข้า 178,888 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.3%

ตลาดส่งออกหลักของเวียดนาม ได้แก่ สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง และตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และไต้หวัน

สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า 10,718 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไม้และสินค้าจากไม้

สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผ้าทุกชนิด และเหล็กทุกชนิด

ขณะที่การค้าระหว่างไทย - เวียดนามในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 9,447 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการส่งออกไปเวียดนามมีมูลค่า 5,569 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.0% และการนำเข้าสินค้าจากเวียดนามมีมูลค่า 3,878 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของเวียดนาม

ด้านสินค้าที่นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและส่วนประกอบ  วัตถุดิบพลาสติกผลิตภัณฑ์สารเคมี วัตถุดิบสิ่งทอ เครื่องหนัง

สินค้าที่นำเข้าลดลง อาทิ  ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ รถยนต์ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนยานยนต์ น้ำมัน

สินค้าที่ส่งออกไปไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์สารเคมี เป็นต้น และสินค้าที่ส่งออกลดลง เช่น โทรศัพท์และส่วนประกอบ สัตว์น้ำ และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

 

เศรษฐกิจเวียดนาม แนวโน้มโตสูง ความท้าทายไทยบนเวทีแข่งขันการค้า

 

ความสามารถการแข่งขันทางการค้า

ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่

1. ต้นทุนการผลิต เนื่องจากไทย มีต้นทุนแรงงานที่สูงในหลายอุตสาหกรรม อีกทั้งมีความขาดแคลนด้านแรงงาน แต่มีประสบการณ์และทักษะทางเทคนิคสูงกว่า ขณะที่ เวียดนาม มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าและมีแรงานในวัยทำงานจำนวนมาก สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น และแรงงานที่ต้องใช้ทักษะ

2. ข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกของข้อตกลงการค้าเสรีที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการนำเข้าและส่งออก ได้แก่ ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA), อาเซียน-จีน, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลีใต้, อาเซียน-ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์, อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (RCEP)

3. โครงสร้างพื้นฐาน ไทย มีโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาแล้วในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ที่ดี และราคาค่าขนส่งที่ถูกกว่า ขณะที่เวียดนาม กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในท่าเรือและการขนส่งทางบกแต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูง ปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ในเวียดนามคิดเป็นประมาณ 17-18% ของมูลค่าสินค้า ในขณะที่ต้นทุนในโลกประมาณ 10.6% เท่านั้น

4. นโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล ไทย มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศที่ชัดเจน และเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ด้านเวียดนาม รัฐบาลมีนโยบายที่กระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น

5. ตลาดภายในประเทศ ไทย มีตลาดภายในที่มีความต้องการสูงและมีความหลากหลายในสินค้าที่ผลิต เวียดนามตลาดภายในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพในการขยายตัวต่อไปในระยะยาว

 

กลุ่มอุตสาหกรรมที่แข่งขันสูง

1. การผลิต ทั้งไทยและเวียดนามมีอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่ง ไทยมีความได้เปรียบในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นกลางถึงสูงแต่การปรับตัวยังค่อนข้างช้า ขณะที่เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น แต่รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาด เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

2. การเกษตร ไทยมีการเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าการเกษตรรายใหญ่ ขณะที่เวียดนามก็มีอุตสาหกรรมการเกษตรที่แข็งแกร่ง เวียดนามเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่โดยเฉพาะสินค้าสัตว์น้ำ ผลไม้ มะม่วงหิมพานต์ ข้าว กาแฟ ชา พริกไทย ยางพารา และมันสำประหลัง เป็นต้น

ทั้งไทยและเวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งมีหลายด้านที่มีความได้เปรียบเสียเปรียบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมา การแข่งขันในตลาดโลกของทั้งสองประเทศจะยังคงมีความเข้มข้นและทั้งสองประเทศก็จะต้องพัฒนาความสามารถและนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของตนเอง

แต่การร่วมมือกันของทั้งสองประเทศจะเป็นผลดีในระยะยาวมากกว่าการแข่งขันกัน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีปัจจัยเสริมกันได้อย่างดี การร่วมมือกันจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนในแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต