วันที่ 12 กันยายน 2567 นายธนวรรรน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ส.ค. 67 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 56.5 จากเดือน ก.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 57.7 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 66 เป็นต้นมา
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 50.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 53.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 65.6 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนก.ค.66
โดยปัจจัยลบในเดือน ส.ค. 67 มาจาก 4 เรื่องหลัก ได้แก่
1. ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพรวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
2. ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะในภาคเหนือ ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงผลผลิตทางการเกษตร
3. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติหกต่อหนึ่งเสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้ม กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 67 ทำให้กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังสอดคล้องกับเศรษฐกิจ
4. ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังยืดเยื้อ ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูง และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า
“สถานการณ์ของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์การเมืองปลายเดือน ส.ค. 67 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่เห็นถึงนโยบายทางการเมือง ที่จะมาช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการยังชัดเจนว่ายอดขายตกลง เรื่อยๆและยังไม่มีมีแนวโน้มที่จะฟื้นขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยจึงตกลงทุกๆรายการเป็นเดือนที่ 4 เดือน” นายธนวรรธน์ ระบุ
ทั้งนี้ก็มีปัจจัยบวก คือ การเมืองในประเทศเริ่มมีความชัดเจนขึ้น หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ซึ่งจะหนุนความเชื่อมั่นการลงทุน และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และสภาพัฒน์แถลงเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 5 ปี 67 ขยายตัว 2.3%
สำหรับราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับดีส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลง แก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ปรับตัวลดลงประมาณ 2.00 บาทต่อลิตร อยู่ที่ระดับ 35.98 และ 36.35 บาทต่อลิตร
ขณะเดียวกันรัฐบาลออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นการสนับสนุนการมีที่อยู่ของภาคประชาชน
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้นจาก 36.295 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 67 เป็น 34.755 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 67 สะท้อนว่ามีการไหลเข้าสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ยังมีจุดเปราะบางจากปัจจัย เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, การจ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต เฟส 2 ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นในรูปของเงินสด หรือเงินดิจิทัล รวมสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ รวมทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงปลายปีนี้ด้วยเช่น ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
“จีดีพีปีนี้มองที่ 2.8% หากจะทำให้แตะ 3% ได้จะต้องทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังโตได้ถึง 4% ขณะที่ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจโตแล้ว 1.9% ปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเพราะจะต้องทำให้การส่งออกขยายตัวอย่างรุนแรงมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ"