กรมวิชาการเกษตร รณรงค์เกษตรกรใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์

23 ก.ย. 2567 | 07:30 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2567 | 08:27 น.

การเผาตอซังฟางข้าวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลต่อโลกในระยะยาว กรมวิชาการเกษตร พัฒนาจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ เพื่อผลิตปุ๋ยหมักคุณภาพสูง ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการใช้ปุ๋ยเคมี ก้าวสำคัญสู่การเกษตรยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าว มักพบปัญหาการจัดการตอซังและฟางข้าวที่เหลือหลังการเก็บเกี่ยว หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม หรือยังคงใช้วิธีการเผาแบบดั้งเดิม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะยิ่งทวีความรุนแรง ทั้งปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง และการเสื่อมสภาพของดินจากการเผา ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้ผลผลิตลดลงในระยะยาว เกษตรกรจึงจำเป็นต้องหาวิธีการจัดการที่ยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบเหล่านี้

จากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นการรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการตอซังและฟางข้าว โดยตั้งเป้าหมายลดการเผาในพื้นที่การเกษตรลงถึง 50% กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยหมัก ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเกษตรกร ช่วยลดระยะเวลาในการย่อยสลาย และแทนการเผาด้วยวิธีเดิม

รพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
รพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การใช้จุลินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พัฒนาขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีความสามารถในการย่อยสลายตอซังอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งสัปดาห์ ช่วยเปลี่ยนตอซังให้เป็นอินทรีย์วัตถุในดิน เพิ่มมูลค่าด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและช่วยลดต้นทุนปุ๋ย เกษตรกรจึงไม่ต้องซื้อปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณมากอีกต่อไป กรมวิชาการเกษตรได้บูรณาการเทคโนโลยีนี้ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร โดยนำร่องในหลายพื้นที่ ซึ่งเกษตรกรเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ทั้งการลดการเผา เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน และปรับปรุงคุณภาพและปริมาณผลผลิต

กรมวิชาการเกษตรมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของการเกษตรไทย โดยเน้นการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย อันเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความมั่นคง และการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมของไทย