นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้จัดงานเปิดบ้านงานวิจัยกรมวิชาการเกษตร ปี 2567 “จุดประกายพลังวิจัย ขับเคลื่อนเกษตรไทยอย่างยั่งยืน” ในระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 67 ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา กรมวิชาการเกษตร โดยงานวิจัยที่นำมาจัดแสดงในปีนี้เป็นผลสำเร็จงานวิจัยที่มีศักยภาพ มีความพร้อมที่จะนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริง และขยายผลนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนายกระดับการเกษตรของประเทศไทย ที่จะนำมาสู่การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเป็น 3 เท่าใน 4 ปี ตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
กิจกรรมเด่นภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการ ผลงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพิเศษดีเด่น, ผลงานโครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล สินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง และผลสำเร็จการดำเนินงาน/ผลงานเด่นของหน่วยงานในสังกัดกรมวิชาการเกษตร อาทิ เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (GEd),การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาตรการลดการเผา 3R, คาร์บอนเครดิตเพื่อลดผลกระทบมาตรการกีดกันทางการค้า,ต้นแบบชุดตรวจสอบตะกั่วในขมิ้นชันและไพลด้วยเทคนิค electrochemical, ต้นแบบชุดตรวจสอบถั่วเหลืองโอลีอิคสูง, เตาไร้ควันผลิตถ่านอัดแท่งจากไผ่, ถ่านไบโอชาร์, ผลิตภัณฑ์สารชีวภาพควบคุมแอนแทรคโนสในพริกจากเทคโนโลยี RNAi, ตัวอย่างชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี และเครื่องดักแมลงแบบอัตโนมัติ
เปิดประสบการณ์เรียนรู้ สาธิตการเพาะถั่วงอกคอนโด การทำโดนัทจิ๋วแต่แจ๋วจากแป้งฟลาวมันจาวมะพร้าว การทำไอศกรีมเสาวรส ฯลฯ ชมผลงานวิจัยเด่นสินค้าเกษตรอาหารปลอดภัยมูลค่าสุง การพัฒนาพันธุ์กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ กวก. ชุมพร1 ผลใหญ่ เนื้อแน่น เหมาะบริโภคผลสุก และแปรรูปเป็นกล้วยอบหรือกล้วยฉาบ การพัฒนาพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ กวก. กาญจนบุรี 1 ผลผลิตสูง ฝักตรง ห้าเหลี่ยม ผลนุ่ม สีเขียวสม่ำเสมอ เทคโนโลยีการผลิตต้นกระจูดที่มีคุณภาพจากกรมวิชาการเกษตรใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานจากกระจูดที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้แก่ชุมชน
การนำพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตฝ้าย มาพัฒนาต่อยอดผ้าทออีสานสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นสู่การสร้างเศรษฐกิจในชุมชน ชุดตรวจสอบสารแอฟลาทอกซิล บี 1 แบบรวดเร็วด้วยแถบทดสอบ (strip test)สามารถตรวจสอบได้ง่ายและรวดเร็ว และโมเดลต้นแบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออย่างรวดเร็ว เพื่อการขยายพันธุ์พืชเชิงพาณิชย์สนับสนุนเกษตรอุตสาหกรรม ที่สามารถผลิตต้นพันธุ์พืชปลอดโรคที่ตรงตามพันธุ์ได้ในปริมาณมาก และใช้ระยะเวลารวดเร็ว ต้นแข็งแรง และขนส่งได้ง่าย
“พันธกิจงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร คือ การตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและตลาดผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนาพันธุ์พืชให้มีปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร ลดการนำเข้า ลดต้นทุนการผลิต พร้อมตอบโจทย์ด้านคุณภาพผลผลิต การต้านทานโรคพืชและแมลงศัตรูพืช การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อรองรับความมั่นคงอาหาร โดยได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567”
ที่ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการพัฒนางานวิจัยด้านพืชที่รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น รองรับนโยบายการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชของอาเซียนและของโลก การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาตรการลดการเผา 3R, คาร์บอนเครดิตเพื่อลดผลกระทบมาตรการกีดกันทางการค้าสำหรับงานวิจัยก้าวต่อไปของกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการพิจารณาความเชื่อมโยงแผนงานวิจัย และโครงการวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ตามเป้าหมายและตัวชี้วัดประจำปี 2568 – 2570
โดยในปี 2568 จำนวน 68 แผนงานวิจัย ปี 2569 จำนวน 64 แผนงานวิจัย เพื่อเสนอขอรับสนับสนุนงบประมาณการวิจัยต่อไปตามแผนปฏิบัติการด้านงานวิจัยและนวัตกรรมกรมวิชาการเกษตร และปี 2568–2570 เป้าหมายหลักคือการส่งเสริมพัฒนาการเกษตรของประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว