นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตร ที่เป็นไปตามนโยบายของศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวม พร้อมแถลงผลงานและเปิดบ้านงานวิจัยประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด "จุดประกายพลังวิจัย ขับเคลื่อนเกษตรไทยอย่างยั่งยืน" ทั้งความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านพืชในระดับสากล
รวมถึงการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 การใช้ชีวภัณฑ์ลดการใช้สารเคมี การประกาศสงครามกับปุ๋ย เคมีการเกษตรปลอม กรมวิชาการเกษตรพร้อมบริหารจัดการภาคเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้าน ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่สามารถตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของโลก ยกระดับรายได้ของเกษตรกร
งานแถลงผลงานและเปิดบ้านงานวิจัยมีเป้าหมายหลักในการสื่อสารผลสำเร็จของงานวิจัยที่กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นำเสนอนวัตกรรมใหม่ ที่เกิดจากการวิจัย ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้จริงในการเพิ่มผลผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กิจกรรมเด่นภายในงานประกอบด้วย ผลงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษดีเด่นประจำปี 2567,โครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล สินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง,ผลความสำเร็จการดำเนินงาน/ผลงานเด่นของหน่วยงาน, คนดี ผลงานเด่น กรมวิชาการเกษตร,การเสวนาผลงานที่ได้รับรางวัลDOA Together Award ประจำปี 2567และ การเสวนาผลงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
ในปี 2567กรมวิชาการเกษตรมีผลงานเด่นที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงาน ก.พ.ร.จำนวน 4 รางวัล คือ สาขาการบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ ระดับดีจากผลงาน“แผ่นเทียบสีสำหรับการเก็บเกี่ยวผลกาแฟในระยะสุกแก่ที่เหมาะสม” ซึ่งพัฒนาโดย กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ผลงานนี้เป็นนวัตกรรมที่ช่วยเกษตรกรในการเก็บเกี่ยวกาแฟเมื่อผลสุกในระดับที่เหมาะสมที่สุด เพื่อรักษาคุณภาพและมูลค่าของผลิตภัณฑ์
สาขาการบริการภาครัฐ ประเภทขับเคลื่อนเห็นผล ระดับดี ผลงาน “การขับเคลื่อนกาแฟโรบัสตาศรีสะเกษ อัตลักษณ์หนึ่งเดียวพลิกวิกฤติสู่ความยั่งยืน” จาก ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ผลงานนี้ได้สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนท้องถิ่นและพัฒนากาแฟโรบัสตาในจังหวัดศรีสะเกษให้กลายเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่นระดับประเทศ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน (Open Governance) ระดับดี ผลงาน “กรมวิชาการเกษตรเปิดใจใกล้ชิด ผนึกกำลัง
ร่วมยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย” ของกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ได้รับการยกย่องจากความพยายามในการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชนในการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นสาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดี จากผลงานเรื่อง กาแฟฟ้าห่มป่า มรดกคู่ผืนป่า พึ่งพาตนเอง ผลงานของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ทำให้ชุมชนมีรายได้จากกาแฟ 1.3 ล้านบาท รายได้ 86,160 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เพิ่มขึ้น 32 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551
ผลงาน DOA Together Award ประจำปี 2567 ด้าน IMPROVE "THAI-IM-PLANT Web Application" ระบบสืบค้นรายการสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้ามภายใต้พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผลงานจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และผลงานด้าน COOPERATION:การขยายผล "จันทบุรีโมเดล" สู่การควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคตะวันออกปี 2567 โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6
นอกจากนั้นภายในงานมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยโดย ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร และส่งเสริมการต่อยอดใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ระหว่างนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ศ.ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่าการวิจัยถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันสร้างแนวทางการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ภาคการเกษตรของไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้
งานแถลงผลงานและเปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร 2567 เป็นเวทีที่สำคัญในการเผยแพร่ผลงานและนวัตกรรมทางการเกษตรที่เกิดจากการวิจัยในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “จุดประกายพลังวิจัย ขับเคลื่อนเกษตรไทยอย่างยั่งยืน” กรมวิชาการเกษตรได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยในการขับเคลื่อนเกษตรกรไทยสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน งานนี้เป็นโอกาสพิเศษในการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา พร้อมสัมผัสผลงานวิจัยที่มีศักยภาพในการนำไปใช้พัฒนาภาคการเกษตรไทยให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน