นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ตลอดทั้งปี 2567 เทียบกับปี 2566 ที่ผ่านมาว่า คาดปีนี้จะมีธุรกิจจดทะเบียนตั้งใหม่ระหว่าง 90,000-98,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มี 85,300 ราย หรือจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5-15% ล่าสุดสถิติช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 61,819 ราย (เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 261 ราย หรือเพิ่มขึ้น 0.42%) ทั้งนี้หากพิจารณาจากปัจจัยและ สถานการณ์ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ แล้วคาดจะเป็นไปตามเป้าหมาย
“การจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ที่จะขยายเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในปี 2568 ได้เริ่มลงสู่ระบบแล้ว จะมีโครงการใหม่ ๆ ที่จะต้องตั้งธุรกิจมารองรับ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจก่อสร้าง หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณของภาครัฐ ขณะเดียวกันการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขก็ขยายตัวเป็นบวก และมีเรื่องนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบางเป็นปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจ”
ส่วนปัจจัยเสี่ยงก็มีอยู่ เช่นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องการเลือกตั้งในประเทศสำคัญ ๆ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ เพราะปัจจัยทั้งในและต่างประเทศล้วนมีผลต่อการมาขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ว่าจะเติบโตหรือไม่
อย่างไรก็ดีธุรกิจที่มองว่าจะเป็นดาวเด่นมาแรง ที่จะมาขอจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่นับจากนี้ อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ชิ้นส่วนไฟฟ้า การบริหารจัดการขยะ การดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยก๊าซรือนกระจก หรือเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงธุรกิจให้คำปรึกษา และธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งทางกรมฯได้ให้ความสำคัญ และพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยพัฒนาทักษะเพื่อเข้าไปเป็นซัพพลายเชนในธุรกิจที่กล่าวมา
“ส่วนภาพรวมการจดทะเบียนจดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2568 ในปีหน้า จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องขอดูตัวเลขทั้งปีนี้ก่อน หากเป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คาดตัวเลขการจดทะเบียนปีหน้าจะโตมากกว่าปีนี้แน่นอน แต่จะขยายตัวซักกี่เปอร์เซ็นต์จะได้มีการคาดการณ์สำหรับปีหน้าต่อไป ทั้งนี้ในปีหน้าเทรนด์ธุรกิจที่จะโตอยู่ในกลุ่มที่กล่าวมา ส่วนที่จะเป็นดาวร่วง เช่น ขายของหน้าร้าน ธุรกิจที่ใช้พลังงานฟอสซิล เป็นต้น
นางอรมน ยังกล่าวถึง กรณีมีข่าวพบคนต่างชาติหรือต่างด้าว เข้ามาทำอาชีพสงวนสำหรับคนไทย เช่น เปิดแผงค้าขายในตลาด เข็นรถขายน้ำผลไม้ ขับขี่จักรยานยนต์พ่วงข้างขายอาหาร หรือเปิดกิจการย่านการค้าสำคัญในประเทศไทยคล้ายแย่งอาชีพคนไทยว่า ในเรื่องนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ให้ความสำคัญในการเข้าไปสอดส่องดูแล เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย และให้สอดคล้องตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำกับดูแลอยู่
ในเรื่องนี้ กรมฯได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการเข้าไปขอดูข้อมูลเอกสาร เข้าไปดูพื้นที่ตั้งธุรกิจ ซึ่งมีแผนเข้าไปตรวจเป็นประจำทุกปี มุ่งเน้นจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งปีนี้ตรวจไปแล้วกว่า 26,000 กว่าราย ซึ่งก็มีการพบผู้กระทำผิด และมีการปรับคนที่ทำผิดพ.ร.บ.บัญชี และส่งต่อกรมสรรพากร และในหลายกรณีก็มีการยุติเรื่อง เพราะไม่พบการกระทำความผิด
“ขณะเดียวกันเรื่องที่เราเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงที่ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ เพื่อให้มีอำนาจในการเข้าไปดูบัญชี ไปดูเส้นทางการเงิน ขอดูสมุดธนาคารในเชิงลึก ก็มีหลายหน่วยงานที่ร่วมมือกัน เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เป็นต้น ซึ่งจากนี้จะบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดมากขึ้น