รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะเติบโตในกรอบเบื้องต้น 3-3.5% เนื่องจากรัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลักให้เห็นชัดเจน และต้องจับตามองมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจะถูกนำมาดำเนินการต่อในช่วงปีหน้าหรือไม่
ทั้งนี้ หากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตมีใช้จ่ายเข้ามาในระบบ 150,000 – 300,000 ล้านบาท จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.5-2% แต่หากมีการใช้จ่ายเข้าในระบบ 100,000 ล้านบาท ก็เชื่อว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.5-0.7% ซึ่งจะเป็นส่งเสริมเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
ขณะที่ เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดน่าจะเติบโต 2.6% หากสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางไม่มีความรุนแรง ค่าเงินบาทยังอยู่ในกรอบประมาณ 33-35 บาทต่อดอลลาร์และไม่หลุด 32 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้งยังเชื่อว่าการท่องเที่ยวมีสัญญาณของการฟื้นตัว โดยปี 2567 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศประมาณ 36 ล้านคนต่อปี และการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 2-3% โดยมีตัวเลขการส่งออกประมาณ 24,000 -26,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน
ขณะเดียวกัน แม้หลังจากมีการโอนเงินเงิน 10,000 บาทให้ประชาชนในกลุ่มเปราะบางแล้ว แต่สถานการณ์ค่อนข้างเงียบซึ่งอาจจะต้องประเมินสถานการณ์กันต่อ ซึ่งคาดว่ามาจากสถานกาณ์น้ำท่วมทำให้ประชาชนไม่สามารถออกมาใช้จ่ายได้เต็มที่ จึงยังไม่เห็นความคึกคักในระบบเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาท จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.2%
นอกจากนี้ หลังจากที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการพูดในที่ประชุม ACD โดยมีการใช้คำว่า ศตวรรษเอเซีย พลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร และดาต้าเซ็นเตอร์ ดังนั้นรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ก็พยายามไปเปิดตลาดต่างประเทศ เร่งเจรจา FTA และดึงดูดการลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะใช้คำว่า EEC เป็นศูนย์กลาง เพื่อดึงดูดนักธุรกิจด้านไอที ด้านอาหารเข้ามา
ขณะที่ การดึงชาวต่างชาติผู้เชี่ยวชาญเข้ามาและรัฐบาลจะใช้ IGNITE THAILAND ทั้ง 8 ด้าน ในการเสริมสร้างเศรษฐกิจอย่างไรยังเห็นไม่ชัด ซึ่งมาตรการที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการได้แก่
1 . การดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาลงทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้ IGNITE THAILAND ทั้ง 8 ด้าน เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ และในพื้นที่ อีอีซี ดำเนินการชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงเม็ดเงินจากการลงทุนเข้ามาได้ ปัจจุบันเริ่มมีนักลงทุนจีนเข้ามาในพื้นที่ อีอีซี รวมถึงการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ของต่างชาติ และหากสามารถดึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่อีอีซี จะส่งให้ประเทศไทยมีแต้มต่อในการทำธุรกิจและโดดเด่นบนเวทีโลกในอุตสาหกรรรมแห่งอนาคต ซึ่งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอีวี พลังงาน และไอที
2. เร่งเจรจา FTA ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนอันดับ 6 ในอาเซียน เพราะว่า FTA ยังมีน้อยฉบับเมื่อเทียบกับเวียดนาม และมีบุคลากรด้านไอทีน้อย เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมถึงบุคลากรที่ชำนาญภาษาอังกฤษของไทยยังมีน้อย ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ จะสร้างบุคลากรด้านไอที และบุคลากรด้านเมดิคอลฮับ เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการที่เติบโต
“ บุคลากรทางด้านไอทีเรามีคนจำนวนน้อย ต้องเร่งสร้างทั้งในระดับ ปวช. ปวส. และ ระดับปริญญาตรี ต้องส่งเสริมอย่างรวดเร็วภายใน 2 ปี อีกทั้งไทยมีปัญหามากในเรื่องของจำนวนของบุคคลากรทางการแพทย์ ถ้าหากจะเดินหน้าเศรษฐกิจทางด้านเมดิคอลฮับควรสร้างบุคคลากรทางแพทย์ให้มากขึ้น เช่น การเสริมคอร์สสำหรับผู้ช่วยพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุ การส่งเสริมบุคลากรที่มีสกิลทักษะของการรวด หรือว่าทักษะของเวลเนส จะเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ไทยเติบโตได้เร็ว” รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ
3. แก้ไขปัญหาความสามารถในการแข่งขันโดยรวม เช่น การแก้กฎหมาย ที่รัฐบาลควรจะร่วมมือกับภาคเอกชนแก้กฎหมายร่วมกัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สิ่งที่ต้องเน้นก็คือ one stop service และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ถนนการเชื่อมต่อเมืองน่าเที่ยวกับเมืองหลัก หากสามารถระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกขึ้น หรือต้นทุนการท่องเที่ยวต่ำลง ก็สามารถดึงดูดการท่องเที่ยวภายในได้