อุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทยที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตในประเทศคิดเป็นสัดส่วนราว 98.6% ของปริมาณเครื่องดื่มที่บริโภคในประเทศทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 1.4% มาจากการนำเข้า (สัดส่วน 1.4%) ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสัดส่วน 58% ในเชิงปริมาณ และ 80% ในเชิงมูลค่า โดยตลาดในประเทศเป็นตลาดหลักสัดส่วน 83.7%1/ ของปริมาณจำหน่ายโดยรวม แบ่งเป็นมูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยกว่า 3 แสนล้านบาท และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์กว่า 2.29 แสนล้านบาท
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยในปี 2568 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว สภาพอากาศที่ร้อน และการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากความใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตในปีนี้ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากทั้งผู้เล่นในประเทศและสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากประเทศจีน ขณะที่ตลาดส่งออก เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,705 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 2.1% โดยตลาดหลักยังคงเป็นกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่า 67% โดยสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพ ได้แก่ น้ำดื่มบรรจุขวด ที่มีแนวโน้มเติบโตดีในตลาดหลัก CLMV
ส่วนตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง น่าจะได้รับแรงหนุนจากประชากรแรงงานที่มีอยู่ราว 113 ล้านคน หรือคิดเป็น 63% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งไม่เพียงเจาะตลาดกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แต่มีการปรับภาพลักษณ์ของสินค้าไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ อาทิ กลุ่มพนักงานออฟฟิศ กลุ่มลูกค้าในตลาดอีสปอร์ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตในตลาดนี้ค่อนข้างชะลอตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศ CLMV ที่ยังระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ขณะเดียวกันตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นราคาวัตถุดิบหลัก เช่น น้ำตาลทราย และบรรจุภัณฑ์ มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเครื่องดื่มชูกำลัง การแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศและสินค้านำเข้า และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
แม้จะมีความท้าทาย แต่ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนอล ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภค นอกจากนี้ การขยายตลาดไปยังประเทศใหม่ๆ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ
ในส่วนของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 3 แสนล้านบาท ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรี ระบุว่า ในช่วงปี 2568-2570 ปริมาณการผลิตเครื่องดื่มโดยรวมของไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.5-4.5% ต่อปี เจาะลึกไปที่ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาณการผลิตในประเทศโดยรวมคาดว่าจะเติบโตในอัตราต่ำที่ 1.0 - 2.0% ต่อปี
โดยทั้งเบียร์ และสุรา มีแนวโน้มเติบโตในอัตราดังกล่าวเช่นกัน ปัจจุบันตลาดเบียร์มีมูลค่าตลาดราว 2 แสนล้าน “สุรา” มากกว่า 1.2 แสนล้านบาท (เฉพาะผลประกอบการเหล้าของไทยเบฟเวอเรจ) แต่น้ำเมายังมีหมวดอื่นๆ ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม (RTD) ไวน์ เหล้าบ๊วย บรั่นดี เป็นต้น
ซึ่งแรงผลักดันให้ตลาดมีการเติบโตมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางสังคมในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าพรีเมียมและคราฟต์ นอกจากนี้ นวัตกรรมด้านรสชาติและส่วนผสมใหม่ๆ จะช่วยขยายช่องทางตลาดครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอาจต้องปรับตัวต่อกฎระเบียบและภาษีที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงข้อจำกัดด้านอุปทานจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ เช่น อ้อยและข้าว ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน นอกจากนี้ การลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นอาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันการผลิตด้วย
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,059 วันที่ 5 - 8 มกราคม พ.ศ. 2568