นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานสื่อสารองค์กร เปิดเผยในการนำคณะสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมบริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด บริษัทในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศชั้นนำของประเทศ ผู้ผลิต ซ่อม และส่งออกรถหุ้มเกราะสัญชาติไทย(สินค้าเมด อิน ไทยแลนด์)ไปประจำการในกองทัพขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN และอีกกว่า 46 กองทัพทั่วโลก มีที่ตั้งบริษัท และสายการผลิตอยู่ที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปุทมธานี ว่า
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพที่จะแข่งขันได้ และตรงตามนโยบายของนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า นอกจาก ส.อ.ท.จะส่งเสริมและสนับสนุน และกำกับดูแลสมาชิกในอุตสาหกรรมพื้นฐานต่าง ๆ ของ ส.อ.ท.ในปัจจุบันที่มีอยู่ 46 กลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว ยังมุ่งเน้นอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เรียกว่า New S-Curve ซึ่งมีอยู่ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของประเทศ โดย1 ใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมคือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ส.อ.ท.มองว่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจะเป็นอีกอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ควรให้ความสนใจและให้การสนับสนุน เนื่องจากจะเห็นได้ว่าเวลานี้โลกมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) มาก ดังนั้นในเรื่องขีดความสามารถในการดูแลความมั่นคงหรือการปกป้องอธิปไตยของแต่ละประเทศจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และอีกปัจจัยหนึ่งคือ การแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรมในอนาคต เรื่องการปกป้องแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงานถือมีความสำคัญ
ดังนั้นการที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เข้มแข็ง และยังช่วยให้สามารถเสริมสร้างความสามารถในการดูแลทรัพยากรและพลังงานได้ ทาง ส.อ.ท.จึงมีการกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเป็นโอกาสดีที่สภาอุตสาหกรรมฯ ได้มารับฟังการดำเนินการของบริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นแนวหน้า และเป็นผู้บุกเบิก(Pioneer) อุตสาหกรรมด้านนี้ของประเทศ
ทั้งนี้ได้รับทราบถึงข้อจำกัดที่ยังเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมฯ จากผู้บริหารของบริษัทฯ ทั้งในด้านวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนา และที่สำคัญคือการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่ง ส.อ.ท. จะรับข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปผลักดันในเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตยิ่งขึ้นต่อไป ที่สำคัญเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่อหน่วยสูงมาก
เมื่อถามว่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่ ส.อ.ท.จะผลักดันในการจัดตั้งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ในสภาอุตสาหกรรมฯ ใช่หรือไม่ นายนาวา กล่าวว่า ก็เป็นแนวคิด ซึ่งกำลังเชิญชวนบริษัทที่มีความสามารถมาร่วมจัดตั้งกลุ่ม เช่น บริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว
การรวมเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศภายใต้ ส.อ.ท. จะทำให้สามารถวอยซ์ หรือรวบรวมเสียงได้มีน้ำหนักมากขึ้นในการเจรจาหารือ หรือนำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยจะสามารถส่งผู้แทนของกลุ่มไปนำเสนอปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น
“หากมีการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ จะช่วยให้เกิดซัพพลายเชน หรือห่วงโซ่การผลิตที่เกิดประโยชน์ต่อเนื่องในหลาย ๆ อุตสาหกรรมตามมาอีกมาก ซึ่งจริง ๆ ในสภาอุตสาหกรรมฯ ปัจจุบันมีบริษัทที่สามารถร่วมเป็นซัพพลายเชนได้อยู่แล้ว จากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบหลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ก็สามารถซัพพลายได้ รวมถึงอุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเครื่องจักรและโลหะ ซึ่งสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯมีหลาย ๆ บริษัทซึ่งเป็นสมาชิกของบางกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่แล้ว สามารถมาจับมือกันจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้”
นายนาวา กล่าวอีกว่า หากสามารถจัดดั้งกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มีโอกาสความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะเป็นศูน์กลาง หรือฮับด้านนี้ของภูมิภาคได้ เพราะไทยมีความได้เปรียบ คือมีอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความเข้มแข็งและหลากหลาย รวมถึงยังมีบริษัทผู้บุกเบิกด้านนี้อยู่แล้ว หากสามารถแจ้งเกิดได้ และมีการปรับกฎระเบียบบางอย่างที่ยังเป็นอุปสรรค หรือภาครัฐให้การสนับสนุนในบางเรื่อง มั่นใจว่าอุตสาหกรรมนี้จะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งในกลุ่ม S-Curve ของไทยอย่างแน่นอน
ขณะที่ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สินค้าที่ผลิตในประเทศ และได้รับเครื่องหมายรับรอง Made in Thailand (MiT) จะได้แต้มต่อแค่ 5% ( สินค้าที่ได้รับรองเครื่องหมาย MiT ได้รับแต้มต่อในเข้าร่วมการจัดจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐโดยสามารถเสนอราคาสูงกว่าผู้ประกอบการทั่วไปได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของราคาต่ำสุดของผู้ประกอบการที่เข้าร่วม ทำให้มีโอกาสในการได้รับการพิจารณาคัดเลือกก่อน)
“สมมุติถ้าเกิดบางอุตสาหกรรมที่จำเป็นหรือบางช่วงเวลาที่จำเป็นจริง ๆ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ยื่นข้อเสนอไปกับรัฐบาลแล้วว่า เราอาจจะขอแต้มต่อที่กว้างขึ้น ซึ่งแทนที่จะเป็น 5% อาจต้องขอเป็น 10% เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือไม่ ซึ่งผมมองว่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอาจเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราสามารถขอขยายแต้มต่อได้” นายนาวา กล่าว
ด้าน นายกานต์ กุลหิรัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ให้ความเห็นถึงศักยภาพที่ไทยจะเป็นฮับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของภูมิภาคอาเซียนได้หรือไม่ว่า นอกจากไทยมีศักยภาพในการผลิตทางด้านยุทโธปกรณ์ และยุทธภัณฑ์แล้ว ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยยังเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้นในภาพของซัพพลายเชนต่าง ๆ สามารถเข้าไปซัพพอร์ต(สนับสนุน)ลูกค้าได้ใกล้กว่าต่างชาติที่มาจากยุโรปหรืออเมริกา
ในอีกมุมหนึ่ง ในภาคพื้นอาเซียนที่ประเทศสมาชิกมีความร่วมมือกันในหลากหลายมิติ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เข้าไปประมูลงานในหลากหลายพื้นที่ หลายประเทศยินดีที่จะซื้อสินค้าป้องกันประเทศจากไทยมากกว่าของทางยุโรป เพราะเชื่อมั่นว่าในกรณีที่มีปัญหาอย่างไรก็เป็นภูมิภาคเดียวกัน สามารถซัพพอร์ตกันได้เร็วกว่า