ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปี 2566 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,394 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 663,239 ล้านบาท ในจำนวนนี้ “สหรัฐอเมริกา” ประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลก ขอรับการส่งเสริมรวม 40 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 83,954 ล้านบาท อยู่อันดับ 3 (ในแง่เงินลงทุน) โดยอันดับ 1 คือจีน ขอรับการส่งเสริม 430 โครงการ เงินลงทุน 159,387 ล้านบาท และอันดับ 2 สิงคโปร์ 194 โครงการ เงินลงทุน 123,385 ล้านบาท
ขณะช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 มี FDI ขอรับการส่งเสริมลงทุนไทย 889 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 325,736 ล้านบาท ในจำนวนนี้ทุนสหรัฐขอรับการส่งเสริมเป็นอันดับ 6 รวม 41 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 18,072 ล้านบาท โดยโครงการขนาดใหญ่ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสหรัฐในเวลานี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการ Data Center, Cloud Service ล่าสุด Google ได้ประกาศแผนลงทุน Data Center และ Cloud Service ในไทยมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Equinix ผู้ให้บริการ Data Center แบบ Colocation อันดับ 1 ของโลก ประกาศแผนลงทุน Data Center ในไทย มูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะ 10 ปีนับจากนี้
ขณะที่สหรัฐยังมีการขอส่งเสริมการลงทุนในไทยที่เด่น ๆ ในหลายกิจการ เช่น กิจการผลิต / ทดสอบอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำและแผงวงจรรวม, กิจการผลิต Electronic Passive Component, กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากที่ผ่านมาสหรัฐได้ทำสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยีกับจีน ขณะที่ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ไทยและโลกจับตามองระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” กับ “กมลา แฮร์ริส” ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เพราะจากนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ย่อมส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบทั้งด้านบวก และด้านลบอื่น ๆ ของโลกตามมา
สำหรับในแง่การลงทุนของสหรัฐในไทย รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา สหรัฐเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทย รองจากจีน และสิงคโปร์ โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 87,994 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% ของมูลค่าโครงการลงทุนของต่างชาติที่ได้รับอนุมัติส่งเสริม ในจำนวนนี้สัดส่วน 22% เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตามด้วยอุตสาหกรรมการบริการขั้นสูง สัดส่วน 17% และการเกษตรและเครื่องจักร และยานยนต์สัดส่วน 15%
“การลงทุนของสหรัฐในไทยช่วงที่ผ่านมา มีเหตุผลและปัจจัยจากหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ การลดผลกระทบสงครามการค้ากับจีน จึงจำเป็นต้องหันไปลงทุนในไทยและอาเซียนแทน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้เพื่อผลักดันกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF เพื่อคานอำนาจจีน และเพื่อเพิ่มมูลค่าการลงทุนในห่วงโซ่การผลิตกับประเทศอาเซียนที่ไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศสมาชิก
โดยในอาเซียนมีไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม เข้าร่วม IPEF รวมถึงสหรัฐต้องการลดผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อแสวงหาแหล่งอาหารและสินค้าเกษตรในไทยและอาเซียน ชดเชยจากยูเครนที่มีสงครามกับรัสเซีย และกับจีนที่ทำสงครามการค้าระหว่างกัน”
สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าสหรัฐจะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม หากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี อยู่ในหมวดอาหาร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ และล้อยางรถยนต์ จากทรัมป์ไม่เชื่อในประเด็นลดโลกร้อน และไม่ให้ความสำคัญกับข้อตกลงปารีส รวมถึงองค์การการค้าโลก (WTO) จึงเน้นอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอน เช่น น้ำมัน เหล็ก เป็นต้น
ส่วนหาก กมลา แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดี คาดการลงทุนในไทยจะอยู่ในหมวดที่เป็นพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า ( EV) สินค้าเกษตรยั่งยืน เช่น ผลิตภัณฑ์ยางยั่งยืน เพราะแฮร์ริสให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีสะอาด