นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายฟรานเชสโก โลโลบริจิดา (H.E. Mr. Francesco Lollobrigida) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร อธิปไตยทางอาหาร และป่าไม้สาธารณรัฐอิตาลี และคณะ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายไทย) ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ (ฝ่ายอิตาลี) เตรียมจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างไทย - อิตาลี
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรครอบคลุมการผลิต การค้า และ การลงทุน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรของทั้งสองประเทศ รวมถึงเพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน สำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
“ขณะนี้ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดของร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เพื่อให้การขับเคลื่อนความร่วมมือมีความชัดเจน เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์แก่ทั้ง 2 ประเทศอย่างสูงสุด
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ ในการขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการออกแบบเสื้อผ้าที่มาจากผ้าไหม เพื่อเสริมสร้าง soft power ของไทย เนื่องจากอิตาลีถือเป็นผู้นำด้านแฟชั่นของโลกอีกด้วย” นางนฤมล กล่าว
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (ฝ่ายอิตาลี) กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย - อิตาลี อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการขับเคลื่อนภารกิจภาคการเกษตร อาทิ การเปิดตลาดนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มเติม เป็นต้น
โดยฝ่ายอิตาลีพร้อมสนับสนุนประเทศไทย ในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ตาม 2 ข้อบท ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายไทย) รับผิดชอบ ได้แก่
1. ข้อบทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures)
และ 2. ข้อบทระบบอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Food Systems) อีกด้วย พร้อมทั้งจะสนับสนุนเร่งรัดให้สหภาพยุโรปอนุญาตนำเข้าม้ามีชีวิตจากไทยได้อีกครั้งต่อไป
สำหรับประเทศอิตาลีเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อันดับที่ 22 ของไทย ซึ่งในปี 2567 (ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย.) เทียบกับปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า มีการส่งออกไปอิตาลีเพิ่มขึ้นจาก 8,561 ล้านบาท เป็น 11,883 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,322 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.80
โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาหารสุนัข หรือ แมวสำหรับขายปลีก 2.ปลาหมึกแช่แข็ง อาทิ ปลาหมึกกระดอง ปลาหมึกกล้วย 3.ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ในทางเทคนิค 4.ยางแผ่นรมควัน 5.ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด อาทิ ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ
6.ปลาปรุงแต่งอื่น ๆ อาทิ ไส้กรอกปลา ลูกชิ้นปลา 7.พืชผัก ผลไม้ ลูกนัต เปลือกผลไม้ และส่วนอื่นของพืช แช่อิ่ม เชื่อม หรือฉาบ 8.หอยลาย หอยกาบและหอยแครงปรุงแต่ง 9.ปลาหมึกกระดองและปลาหมึกกล้วยที่ปรุงแต่ง หรือทำไว้ไม่ให้เสีย และ 10.กุ้งปรุงแต่ง ที่ไม่ได้บรรจุภาชนะ