บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย หรือ “ซีพีเอฟ” ผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มีการลงทุนและร่วมลงทุนใน 17 ประเทศ พร้อมทั้งมีการค้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รายงานผลการดำเนินเงินไตรมาส 3 ปี 2567 ด้วยยอดขายจำนวน 142,703 ล้านบาท เป็นส่วนของกิจการต่างประเทศร้อยละ 62 และกิจการประเทศไทยร้อยละ 38
โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 7,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 504% จากไตรมาส 3 ปี 2566 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1,810 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น และการได้รับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมและร่วมทุนที่ดีขึ้นถึงเกือบ 6 เท่า
ทั้งนี้ในไตรมาส 3 ซีพีเอฟมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 15.4% เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.0 ของไตรมาส 3 ปี 2566 จากระดับราคาสุกรที่อยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะระดับราคาสุกรในประเทศเวียดนามที่สูงกว่าปีก่อน จากภาวะปริมาณสุกรลดลงจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า
ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ในหลายประเทศลดลงที่เป็นผลจากการบริหารจัดการด้านประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้น และระดับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ลดลงจากปีก่อน รวมถึงการบริหารการวิจัยและสรรหาวัตถุดิบทดแทนที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมด้วยต้นทุนที่ลดลง
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมากในปีนี้ เป็นผลจากการร่วมมือกันของผู้บริหารและทีมงานที่ช่วยกันดำเนินการเพื่อพลิกกลับสถานการณ์ที่ขาดทุนในปี 2566 ทั้งจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินงานให้ตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ และสอดรับต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละท้องที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่วมมือกันของทุกคนในการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทำให้ปัจจุบันนี้ เรามีฐานที่พร้อมในการแข่งขัน และบริษัทมีความสามารถที่จะมีกำไรเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้
ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนและมีความผันผวนในหลายพื้นที่ ทั้งยังมีความขัดแย้งทางภูมิสังคมในหลายส่วน บริษัทฯจึงต้องปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ในการแข่งขันเพื่อให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งต้องมีการดำเนินการในการช่วยลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟมีแนวในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรนวัตกรรม โดยการผสานนำเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และแนวคิดการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างคุณค่าร่วมไปกับสังคม โดยมุ่งหาแนวทางในการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง
ขณะเดียวกันก็ผลิตได้มากขึ้น ทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่บริษัทผลิตนั้นมีคุณภาพและมีคุณค่าในระดับสูงสุด ในขณะที่มีกระบวนการทำงานที่ดูแลห่วงโซ่อุปทานทุกส่วนให้เติบโตไปด้วยกัน หรือที่เรียกว่า “นวัตกรรมความยั่งยืน หรือ Sustainovation” ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคง