net-zero

ซีพีเอฟ จับมือ บางจาก ป้อนน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว หนุนผลิต SAF ลดปล่อย CO2

    ซีพีเอฟ จับมือ บางจาก เตรียมส่งมอบนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้วให้ผลิตนํ้ามัน SAF จำหน่ายลิตรละ 21 บาท เป็นราคาตลาด เพื่อป้อนโรงกลั่นนํ้ามันบางจาก คาดเริ่มผลิตมีนาคม 2568 ขณะที่บิ๊กบางจาก เผยไทยจะมีการบังคับให้สายการบินให้ผสมนํ้ามัน SAF ต้นปี 2569

ทั้งนี้เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบินสอดคล้องตามเทรนด์โลก

จากมติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปกำหนดให้มีการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels : SAF) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2568 เพื่อลดผลกระทบของก๊าซคาร์บอนฯ จากอุตสาหกรรมการบินที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

ภายใต้ร่างข้อกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้สายการบิน ต้องเพิ่มสัดส่วนของส่วนผสมระหว่างนํ้ามันเชื้อเพลิง SAF กับนํ้ามันเชื้อเพลิง Jet Feul ร้อยละ 2 ในปี 2568 ร้อยละ 5 ในปี 2573 ร้อยละ 20 ในปี 2578 ร้อยละ 32 ในปี 2583 ร้อยละ 38 ในปี 2588 และร้อยละ 63 ในปี 2593 ตามลำดับ หากฝ่าฝืนจะมีการเรียกเก็บค่าปรับ จากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้เครื่องบินของไทยที่ลงจอดในสนามบิน ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายดังกล่าว

ล่าสุด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ ในเรื่องการผลิตนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้ว ระหว่าง นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ และนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ

ซีพีเอฟ จับมือ บางจาก ป้อนน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว หนุนผลิต SAF ลดปล่อย CO2

รวมทั้งผู้บริหารทั้งสองฝ่ายลงนามเป็นสักขีพยาน ร่วมกันบริหารจัดการนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้ว รวมถึงไขมันต่าง ๆ จากธุรกิจผลิตอาหารและไขมันจากบ่อบำบัดนํ้าเสียของซีพีเอฟและบริษัทในเครือ เพื่อผลิตเป็นนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) โดยบีเอสจีเอฟ

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อกายและดีต่อใจ ขณะที่บางจากฯ มีนวัตกรรมที่สามารถนำนํ้ามันปรุงอาหารที่ใช้แล้วจากกระบวนการผลิต เพื่อผลิตเป็นนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่าและหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สอดคล้องกับแนวคิด Sustainovation ของซีพีเอฟที่นำนวัตกรรมมาช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอย่างยั่งยืน จึงเกิดความร่วมมือในครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil : UCO) รวมถึงไขมันต่าง ๆ จากธุรกิจผลิตอาหาร และไขมันจากบ่อบำบัดนํ้าเสียของซีพีเอฟ จากโรงงานต่าง ๆ ผ่านการนำนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้วจากร้านอาหารในเครือซีพีเอฟ เช่น เชสเตอร์, ห้าดาว กระทะเหล็ก ข้าวมันไก่ ไห่หนาน และรวมถึงนํ้ามันในการการทอดอาหารเพื่อการส่งออก เช่น การส่งออกไก่แปรรูป ปริมาณ 1 แสนตัน/ปี เป็นต้น ซึ่งราคาจำหน่ายเป็นราคาตลาด ปัจจุบันอยู่ที่ 21 บาทต่อลิตร

ซีพีเอฟ จับมือ บางจาก ป้อนน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว หนุนผลิต SAF ลดปล่อย CO2

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท และถือเป็นหนึ่งในการดำเนินการด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate action โดยการบริหารการลดของเสียจากกระบวนการผลิตที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มีมูลค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจร หรือ Circular Economy

ซีพีเอฟ จับมือ บางจาก ป้อนน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว หนุนผลิต SAF ลดปล่อย CO2

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจาก กล่าวว่า สหภาพยุโรปกำหนดให้เพิ่มสัดส่วนการผสมนํ้ามันเชื้อเพลิง SAF ประมาณ1%กับนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Jet Fuel) สำหรับสายการบินที่จะลงจอดในสนามบินของกลุ่มประเทศ EU มีผลบังคับในวันที่ 1 ม.ค. 2568

ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีการบังคับให้ผสมนํ้ามัน SAF กับสายการบินในต้นปี 2569 ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบิน ปัจจุบัน โครงการผลิต SAF ของกลุ่มบางจาก ที่โรงกลั่นนํ้ามันบางจากพระโขนงอยู่ระหว่างก่อสร้างตามแผนงานเสร็จไปประมาณกว่า 70% และจะเริ่มผลิตในเดือนมีนาคม 2568 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน และคาดว่าจุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ปี

กลุ่มบางจากได้มีการทำสัญญาซื้อนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้วจากร้านอาหาร ร้านค้าชุมชนและรับซื้อจากประชาชนผ่านสถานีบริการนํ้ามันบางจาก ล่าสุดบางจากได้ทำสัญญากับ CPF ซึ่งเป็นครัวไทยรายใหญ่ระดับโลก ที่เข้าร่วมโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” นอกจากจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG แล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือที่ครอบคลุมด้าน ESG ซึ่งถือเป็นแกนหลักของความยั่งยืน

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า โครงการ “ไม่ทอดซํ้า” และ “ทอดไม่ทิ้ง” เป็นโครงการที่เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ผู้ริเริ่มโครงการ คือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายในการร่วมกันขยายเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความตระหนักในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีให้คนไทย

ปัจจุบันมีหน่วยงานภาคราชการ เอกชน และผู้ประกอบการ ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการและส่งต่อนํ้ามันปรุงอาหารเพื่อผลิต SAF มากกว่า 800 จุดทั่วประเทศ ซึ่งการแปรรูปนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้วเป็น SAF จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงการบินแบบดั้งเดิม ช่วยตอบโจทย์การแก้ไขวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ

 หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,041 วันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567