“FTA ไทย-อียู” ย้อนรอยความสำคัญก่อนบทสรุปเจรจา รอบที่ 4

27 พ.ย. 2567 | 08:53 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2567 | 09:07 น.

ย้อนรอยความสำคัญไทย - อียู คู่ค้าอันดับ 5 ของไทย เดินหน้าเจรจา FTA รอบที่ 4 ที่ กทม. คาดขยายความร่วมมือการค้า หวังฟื้นสัมพันธ์ทวิภาคี ด้านการค้าระหว่างไทยกับ EU 9 เดือนของปี 67 มูลค่า 32,613.05 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.05%

EU ถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และมีประเทศสมาชิกมากถึง 27 ประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมกับอาเซียนในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU FTA) และทั้งสองฝ่ายได้ประกาศหยุดพักการเจรจา เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการเจรจามีพัฒนาการค่อนข้างช้า รวมทั้งฝ่ายสหภาพยุโรปมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเรื่องนโยบายการยอมรับเมียนมา

ขณะที่สมาชิกอาเซียนต่าง ๆ ยังมีความแตกต่างในระดับการพัฒนาทำให้มีปัญหาในเรื่องระดับการเปิดตลาดสินค้าและบริการที่อาเซียนไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปสหภาพยุโรปจึงปรับแนวทางเป็นการเจรจาในระดับทวิภาคีกับสมาชิกอาเซียนที่พร้อมเจรจา 3 ประเทศแรก ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้เห็นชอบอย่างเป็นทางการให้เปลี่ยนแนวทางการเจรจาเป็นแบบทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศ

โดยไทยและสหภาพยุโรปได้เริ่มต้นการเจรจา FTA ระหว่างกันเมื่อปี พ.ศ. 2556 และมีการประชุมเจรจาแล้วรวมทั้งหมด 4 รอบ แต่ด้วยสถานการณ์ในไทย สหภาพยุโรปจึงขอชะลอการเจรจาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2557 ในเวลาต่อมาสหภาพยุโรปได้มีข้อมติให้ฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับ และให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาความเป็นไปได้ในการฟื้นการเจรจา FTA กับไทย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 หลังจากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลของไทย คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศได้มีมติให้สหภาพยุโรปมีการหารือเพื่อฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกมิติ รวมถึงการดำเนินการไปสู่การฟื้นการเจรจา FTA ที่มีเป้าหมายสูงและรอบด้านกับไทย

ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการเกี่ยวกับการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ทั้งการจ้างศึกษา การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาคเอกชน สมาคมธุรกิจ เกษตรกร ผู้บริโภค ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติ รวมไปถึงมีการยกร่างกรอบการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป โดยได้จัดประชุมหน่วยงานภาครัฐ และหารือรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อร่างกรอบการเจรจาฯ รวมทั้งแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อฟื้นการเจรจาฯ จำนวน 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 และ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564 และ วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ตามลำดับ รวมทั้งได้จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหารือเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้มีการเจรจา FTA Thai-EU รอบที่ 4  ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2567  สำหรับการเจรจารอบนี้ประกอบด้วยการประชุมระดับหัวหน้าคณะและการประชุมกลุ่มย่อย 20 กลุ่ม โดยทีมเจรจาฝ่ายไทยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ผลการเจรจาทั้ง 3 รอบที่ผ่านมา ในภาพรวมมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากทีมเจรจาของทั้งสองฝ่ายมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ประสานหารือกันอย่างใกล้ชิด และประชุมระหว่างรอบเพื่อให้การเจรจารอบนี้มีความคืบหน้ามากยิ่งขึ้น

สำหรับ อียู เป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับ EU มีมูลค่า 41,582.24 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 1.43 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไป EU มูลค่า 21,838.37 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 4.21 และไทยนำเข้าจาก EU มูลค่า 19,743.87 ล้านดอลลาร์ ขยายร้อยละ 8.50

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2567) การค้าระหว่างไทยกับ EU มีมูลค่า 32,613.05 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 2.05 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไป EU มูลค่า 18,087 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 8 และไทยนำเข้าจาก EU มูลค่า 14,526.05 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 4.51