รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ วิเคราะห์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มีโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ โดยรัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ (ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2568) เพื่อโต้ตอบยูเครนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลจากสหรัฐฯ (ATACMS) Scalp ของฝรั่งเศส และ Storm Shadow ของอังกฤษ ที่ยิงเข้าไปในพื้นที่ของรัสเซีย (Kursk region และ Bryansk region)
เห็นได้จาก เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (19 พ.ย. 67) รัฐบาลรัสเซีย ประกาศจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ภายใต้เงื่อนไขว่าชาติตะวันตกสนับสนุนขีปนาวุธให้ยูเครน และปูตินประกาศจะตอบโต้ยูเครนแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และเมื่อเดือนกันยายน 2567 ปูตินเคยเตือนว่า ห้ามใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีรัสเซีย
ที่สำคัญคือ ปูตินได้ใช้คำสั่งผู้บริหาร (Executive Order) ลงนามเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายยน 2567 ให้รัสเซียมีสิทธิในการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องอธิปไตยรัสเซียตาม “Basic Principles of State Policy of the Russian Federation on Nuclear Deterrence.” สถานการณ์ทั้งหมดข้างต้นถือว่าเข้าเงื่อนไขของรัสเซีย
อย่างไรก็ดี ขึ้นกับสถานการณ์ก่อนวันที่ 20 มกราคม 2568 ที่โดนัลด์ ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ ว่าชาติตะวันตกเมินคำเตือน และคำพูดของปูตินที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ หรือไม่
ขณะเดียวกัน พัฒนาการของสงคราม มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่นั้น
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นกับ 2 ปัจจัย โดยปัจจัยหลัก คือ การใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียโจมตียูเครน และยุโรป ตามด้วยการเข้าโจมตีรัสเซียชองชาติสมาชิกนาโต้ และมีผลทำให้อิหร่านและเกาหลีเหนือร่วมรบกับรัสเซีย ปัจจัยรองลงมาคือ สงครามอิสราเอลกับพันธมิตรของอิหร่านในตะวันออกกลางเข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัย จะกลายเป็นพื้นที่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้
อย่างไรก็ตาม จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินมามากกว่า 1,000 วัน (ครบ 1,000 วันเมื่อ 18 พ.ย. 2567) พบว่า ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว 0.4-1% ( อ้างอิงข้อมูล IMF 2024 “Medium Term Macroeconomics Effects of Russia’s War in Ukraine and How it Effect Energy Security and Global Emission Targets”) และจากรายงานของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่และไทยลดลงไป 0.3-0.6%
ทั้งนี้ หากรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์และพัฒนาเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ในที่สุด ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกปี 2568 จะลดลงไป 15-30% (งานวิจัยของ Angus Maddison (2001) The world Economy : A Millennial Perspective และงานวิจัย world Bank (1990) ชื่อว่า World Development Indicators) นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจโลกจะมีอัตราการขยายตัวที่ติดลบ ซึ่งขึ้นกับ 3 ฉากทัศน์ของสงคราม (กราฟิกประกอบ)
“โลกในปี 2568 มีความไม่แน่นอนสูงจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายของทรัมป์ 2.0 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในทุกมิติ (ทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ค่าเงิน สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี โลกร้อน ราคาน้ำมัน ต้นทุนการขนส่ง และราคาสินค้า) โดยมีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะขยายตัวลดลง 0.5-1% (ไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3) และเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงในสัดส่วนใกล้เคียงกับเศรษฐกิจโลก