ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเร่งด่วนให้ขับเคลื่อน นโยบายผัก ผลไม้ อาหารต้องปลอดภัยมีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศ และส่งออก โดยมอบหมายให้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และนายชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)จับมือ ยกระดับ การตรวจสอบชัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยไปจีน ผู้ประกอบการทั้งรายย่อย และรายใหญ่ต้องเท่าเทียม เป็นธรรมเสมอภาค ภายใต้กฎระเบียบ เงื่อนไข และกฎหมายเดียวกัน เป็นธรรมโปร่งใส เพื่อให้เกิดความสบายใจทุกฝ่าย
ทั้งนี้ได้เน้นย้ำผูประกอบการ เกษตรกรให้เปิดใจยอมรับ และปรับตัวว่าการส่งออกลำไยไปจีนต้องเป็นไป ตามพิธีสาร-ไทยจีน และมาตรฐานสินค้าเกษตรมกษ. 1004-2557“หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์”ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยอาหารแห่งชาติจีนสำหรับการใช้สารเติมแต่งอาหาร (GB 2760-2014) ได้กำหนดค่าปริมาณสารตกค้างสูงสูด (Maximum Residue Limit: MRLs) ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่เกิน 0.05 กรัม/กิโลกรัม
สำหรับในการหารือวันนี้ มี นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พันเอกรวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช (ฉก.พญานาคราช) นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย นายกฤษฎา ปูแดง นายกสมาคมผู้ประกอบการผลไม้ไทยภาคเหนือ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบออนไลน์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รับหนังสือจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง (สปษ.ปักกิ่ง) แจ้งว่าสำนักงานศุลกากรจีนแจ้งการตรวจพบปัญหาตรวจพบลำไยไทยมีปัญหาสารตกค้าง ตรวจพบสารปราบศัตรูพืชและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งศุลกากรจีนได้สั่งระงับการส่งออกของสวนและล้งที่เกี่ยวข้องทันที
"มีข่าวว่าหน่วยงานกำกับและดูแลตลาด (State Administration for Market Regulation, SAMR) ในเมืองและมณฑลต่างๆ ของจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลสินค้าที่มีการจำหน่ายภายในประเทศจีน ได้มีการสุ่มตัวอย่างอาหารในท้องตลาดที่มีการจำหน่ายไปตรวจสอบด้านความปลอดภัยของอาหารเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ตรวจพบลำไยของไทยที่มีจำหน่ายในร้านผลไม้รายใหญ่สาขาที่ถูกสุ่มตรวจ จำนวน 29 สาขา มี 10 สาขาที่ตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐาน"
อย่างไรก็ดีทางรัฐมนตรีฯ ได้ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรจัดอบรมให้ผู้ประกอบการส่งออกลำไยไปต่างประเทศ ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่โรงคัดบรรจุ ในเรื่องการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ให้เป็นไปตามคำแนะนำให้สามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องป้องกันปัญหาการแจ้งเตือนความไม่ปลอดภัยในผลผลิตจากประเทศคู่ค้าตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการตรวจประเมินจากสำนักงานศุลกากรจีน GACCที่ประชุมมีมาตรการให้ สารวัตร GMP สุ่มตรวจ ให้หน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช (CB)ตรวจเข้ม พร้อมทั้งตรวจผู้แทน CB ว่าได้มาตรฐานตามที่กำหนดหรือไม่ ถ้าพบว่าไม่มีมาตรฐาน ก็จะทำการพักงาน CB ต่อไป ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบตัวเอง ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ซึ่งหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช ร่วมกับสารวัตรเกษตร จะเฝ้าตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวตอนท้ายว่า ผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและรายใหญ่ต้องเท่าเทียมเป็นธรรม เสมอภาคภายใต้กฎระเบียบ เงื่อนไข และกฎหมายเดียวกันเน้นย้ำ ผู้ประกอบการ และเกษตรกร ต้องเปิดใจยอมรับ และปรับตัวว่าการส่งออกลำไยไปจีนต้องเป็นไป ตามพิธีสาร-ไทยจีน ซึ่ง เตรียมเจรจา GACC เพื่อขอความสนับสนุนในการส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังรับหาแนวทางในการยึดอายุการเก็บรักษาลำไยให้เป็นไปตามพิธีสารไทยจีน โดยกรมวิชาการเกษตร จะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตร เน้นย้ำผัก ผลไม้ และอาหาร ต้องปลอดภัย และมีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศ และส่งออกตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์