ผวา “มังคุด” “ทุเรียน” โดนจีนแบน ซ้ำรอยลำไย ป้องตลาดแสนล้าน

25 ม.ค. 2565 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2565 | 16:36 น.

กรมวิชาการเกษตร เปิดเกมรุก ผวา “มังคุด” “ทุเรียน” โดนจีนแบน ซ้ำรอยลำไย ป้องตลาด แสนล้าน ติวเข้ม ล้ง 702 โรง ขณะที่ “ศักดา ศรีนิเวศน์” เตือน จีนนำเข้าผลไม้ ทรงตัว แนวโน้ม ลดลง แนะหาทางหนีทีไล่เพื่อรองรับแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ภัชญภณ หมื่นแจ้ง

นายภัชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 มกราคม2565 นี้ ได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี  ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร จัดประชุมชี้แจงสร้างการรับรู้แนวทางการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการส่งออกผลไม้ในฤดูกาลผลิตปี 2565 แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตามข้อสั่งการของนางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำชับให้วางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ไปประเทศจีนตลอดจนการป้องกันผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจในหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการส่งออกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  โดยในการประชุมครั้งนี้นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายแนวทางการส่งออกผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

 

 

ในช่วงที่ผ่านมาผลผลิตลำไยของจังหวัดจันทบุรีประสบปัญหาตรวจพบศัตรูพืชทำให้จีนระงับการนำเข้าลำไยจากโรงคัดบรรจุที่ได้รับการแจ้งเตือน โดยทางการจีนขอให้กรมวิชาการเกษตรระงับการส่งออกชั่วคราวกับโรงคัดบรรจุที่ถูกแจ้งเตือนดังกล่าว เพื่อสอบสวนหาสาเหตุและกำหนดมาตรการควบคุมให้ทางการจีนพิจารณา ซึ่งจากการที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาทำให้ปัจจุบันสามารถส่งออกได้ตามปกติ

 

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในฤดูกาลส่งออกทุเรียนและมังคุดของจังหวัดจันทบุรี  กรมวิชาการเกษตรจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบผลผลิตเพื่อป้องกันปัญหาศัตรูพืชควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสร้างการรับรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตั้งแต่ที่สวนให้แก่เกษตรกร  พร้อมกับเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามแนวทางของ FAO และ WHO ในโรงคัดบรรจุอย่างเคร่งครัด    โดยหากจีนตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในสินค้าผลไม้ของไทยสินค้าจะถูกทำลายซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของผลไม้ไทยในประเทศจีนอีกด้วย

ผวา “มังคุด” “ทุเรียน”  โดนจีนแบน ซ้ำรอยลำไย ป้องตลาดแสนล้าน

นายภัชญภณ  กล่าวว่า  ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกในปี 2565 นี้กรมวิชาการเกษตรได้มีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุพื้นที่ภาคตะวันออก โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6  ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด (DMA) และสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA)

 

 

จัดฝึกอบรมมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุ ให้กับผู้ประกอบการและผู้ควบคุมคุณภาพประจำโรงคัดบรรจุ จำนวน 400 คน รวมทั้งจัดทำคู่มือและคลิปวีดีโอ การบริหารจัดการโรงคัดบรรจุที่ถูกต้องตามมาตรฐาน GMP และมาตรการป้องกันโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุ เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

 

กรมวิชาการเกษตรมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ในการส่งออกผลไม้  โดยจะมีการเพิ่มมาตรการในการตรวจติดตามโรงคัดบรรจุ GMP Plus (มาตรการ GMP + Covid-19 ) ควบคู่กับมาตรการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนเพื่อป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพปะปนไปในช่วงต้นฤดู ซึ่งจะส่งผลให้ราคาทุเรียนตกต่ำและผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของทุเรียนไทย  

 

ผวา “มังคุด” “ทุเรียน”  โดนจีนแบน ซ้ำรอยลำไย ป้องตลาดแสนล้าน

รวมทั้งได้เตรียมแผนรองรับการตรวจปิดตู้คอนเทนเนอร์ของด่านตรวจพืช และการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC)  โดยเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าวมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอีกหนึ่งเท่า  เพื่ออำนวยความสะดวกให้การส่งออกมีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น

 

จากข้อมูลการเพาะปลูกไม้ผลในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และตราด มีการปลูกไม้ผลส่งออกที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย พื้นที่รวมกว่า 7 แสนไร่ คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีผลผลิตส่งออกประมาณ 1.3 ล้านตัน ทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท โดยลำไยอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว  

 

ส่วนทุเรียนและมังคุดผลผลิตจะออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์และมากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน   ซึ่งผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งออกประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก  ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้าพืชหรือโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,790 โรง โดยในภาคตะวันออกมีโรงคัดบรรจุผลไม้ส่งออกรวมทั้งสิ้น 702 โรง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี 630 โรง

 

ศักดา ศรีนิเวศน์

 

ด้านนายศักดา ศรีนิเวศน์ อดีตนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โพสต์เฟซบุ๊ก ศักดา ศรีนิเวศน์  ถึง สถานการณ์ความต้องการนำเข้าผลไม้ของจีน ปี 2565 คาดว่าปริมาณผลไม้นำเข้าของจีนจะทรงตัวและลดลงเล็กน้อยในปี 2565 จากมุมมองของผลไม้นำเข้า สินค้านำเข้าภายในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ เชอร์รี่สด กล้วย ทุเรียน และประเภทอื่นๆ ซึ่งเชอร์รี่สดนำเข้ามีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสิบของผลไม้นำเข้าทั้งหมด

 

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลผลไม้นำเข้าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ปริมาณของผลไม้นำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการลดระดับการบริโภคและความจริงที่ว่าโรคระบาดในต่างประเทศยังไม่ถูกควบคุม คาดว่าปริมาณผลไม้นำเข้าของจีนจะยังคงทรงตัวและลดลงเล็กน้อยในปี 2565 ในแง่ของการนำเข้าแอปเปิล จีนนำเข้าแอปเปิลน้อยลงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และแอปเปิลที่นำเข้าส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และชิลี ณ เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564

 

การนำเข้าแอปเปิ้ลของจีนได้สะสมถึง 67,500 ตัน ในปี 2564 ทั้งปีปริมาณการนำเข้าแอปเปิลของจีนคาดว่าจะลดลง 4.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 72,000 ตัน สาเหตุหลักมาจากปริมาณผลผลิตแอปเปิลภายในประเทศที่เพียงพอและความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งทำให้จีนลดการนำเข้าแอปเปิล เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้ที่จีนนำเข้ารายใหญ่ที่สุดของจีน จีนจึงจะลดการนำเข้าแอปเปิ้ลและย้ายไปที่นิวซีแลนด์และชิลีเนื่องจากผลกระทบของภาษีการค้า แต่โดยทั่วไปแล้ว จีนยังคงเป็นผู้ผลิตแอปเปิลรายใหญ่ที่สุดของโลก ดังนั้นการนำเข้าก็แทบไม่มีความสำคัญสำหรับจีนเลย

 

นอกจากนี้ จากมุมมองของการบริโภคตามฤดูกาล เดือนเมษายนและสิงหาคมเป็นเดือนที่มีปริมาณผลไม้นำเข้าสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณผลไม้และความต้องการตามฤดูกาล จากข้อมูลของกรมศุลกากร จีนนำเข้าผลไม้ในเดือนตุลาคม 2564 เพียงเดือนเดียวอยู่ที่ 440,000 ตัน ลดลง 180,000 ตัน หรือ 27.3 เปอร์เซ็นต์

 

 

แต่เมื่อเทียบปีต่อปีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม 2564 จีนนำเข้าผลไม้ 6.14 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.4 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันส้มในประเทศและผลไม้สดตามฤดูกาลอื่นๆ เริ่มออกสู่ตลาดเป็นช่วง ๆ ประกอบกับข้อจำกัดด้านนโยบายที่ต้องการพึ่งตนเองให้มากที่สุด โดยการส่งเสริมให้เกษตรปลูกผลไม้ท้องถิ่นให้มากขึ้นเพื่อลดการนำเข้า (น่าจะเรื่องการเมืองระหว่างประเทศด้วย/ผู้เขียน) คาดว่าผลไม้นำเข้าจีนมีแนวโน้มที่จะลดลงในปี 2565

 

 

ดังนั้นเกษตรกรและผู้ส่งออกไทยก็จะต้องเตรียมแผนการทางหนีทีไล่เพื่อรองรับแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราคงต้องเร่งหาตลาดใหม่เพื่อรองรับผลผลิตของเรา และต้องพัฒนาคุณภาพผลผลิตของเราให้ดีที่สุด เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันกับเพื่อนบ้านเราได้ แม้ว่าราคาของเราอาจจะสูงกว่าแต่คำว่า “Product of Thailand” ยังเป็นที่ยอมรับจากลูกค้ามากกว่า