เจาะลึก FTA 4 ฉบับ ภารกิจเร่งด่วน เพิ่มโอกาสทางการค้า

02 ธ.ค. 2567 | 23:30 น.

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าเร่งเจรจา FTA 4 ฉบับ ไทย-อียู อาเซียน-แคนาดา ไทย-เกาหลี ไทย-ภูฎาณ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันทางการค้า ขยายตลาดเดิมและตลาดใหม่ ส่องการใช้สิทธิ FTA ส่งออก 9 เดือน ปี 67 มูลค่า 63,501 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.11%

ท่ามกลางเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศมีการชะลอตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ไทย ต้องเดินหน้าเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าศักยภาพ เพื่อสร้างโอกาสและขยายการค้า ทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยภายใต้กรอบกติกาของโลก

ปัจจุบันไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA รวม 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ สำหรับ FTA ฉบับที่ 15 ของไทย คือ FTA ไทย-ศรีลังกา ได้ลงนามความตกลงไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และคาดว่าจะมีผลใช้บังคับภายในปี 2567ในส่วนสำคัญสำหรับ FTA ที่อยู่ระหว่างเร่งรัดการเจรจาปัจจุบันมีอยู่จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ไทย-สหภาพยุโรป (EU) 2.อาเซียน-แคนาดา  3. ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี  4. ไทย-ภูฎาน

สำหรับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี  FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ล่าสุดได้มีการเจรจารอบที่ 4 ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ กรุเทพมหานคร ประเทศไทย ทั้งนี้ สำหรับการเจรจารอบนี้ภาพรวมเป็นไปด้วยดี โดยข้อบทมีความคืบหน้าในทุกเรื่องและสามารถสรุปได้แล้ว 2 บท ได้แก่ 

  • บทแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ อาทิ การเผยแพร่และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ 
  • บทความโปร่งใส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความโปร่งใสในกฎหมาย กฎระเบียบ และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มหารือเกี่ยวกับแนวทาง (modalities) และกรอบเวลาการยื่นข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐระหว่างกันแล้ว รวมถึงได้วางแผนการจัดประชุมระหว่างรอบในรูปแบบออนไลน์ของทุกกลุ่ม เพื่อให้การเจรจารอบที่ 5 มีความคืบหน้ามากที่สุดและสามารถสรุปการเจรจาเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม 

ขณะที่ อาเซียน-แคนาดา ยังเหลือการพิจารณาแผนเจรจาอีก 8 รอบ ซึ่งในการเจรจาจะเร่งผลักดันแผนงานเจรจาของทั้ง 19 คณะทำงานเพื่อให้สามารถสรุปผลภายในปี 2568 รวมถึงผลักดันประเด็นคงค้างสำคัญต่าง ๆ  อาทิ การเปิดตลาดสินค้า การรับรองเอกสารเกี่ยวกับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และโครงสร้างและขอบเขตการบังคับใช้บทการค้าบริการและการลงทุน การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการค้า โดย FTA ฉบับนี้ถือเป็นฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ

ด้าน ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี  ได้ลงนามเอกสารขอบเขต (TOR) สำหรับ การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2567 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเจรจา เบื้องต้นทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาในปี 2569โดยมีการประชุม เจรจาไปแล้ว 2 รอบ รอบแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567

และรอบล่าสุดสาธารณรัฐเกาหลีเป็นเจ้าภาพจัดการ ประชุมเมื่อวันที่ 25-27 กันยายน 2567 ซึ่งผลการเจรจามีความคืบหน้าไปมาก โดยในรอบที่ 2 ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีสามารถสรุปผลของบทพิธีการศุลกากรและ การอำนวยความสะดวกทางการค้าได้ซึ่งหากความตกลงมีผลใช้บังคับแล้ว จะช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้าในการนำเข้า-ส่งออกระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีได้เพิ่มมากขึ้น

FTA  ไทย-ภูฏาน ล่าสุดไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา FTA ไทย–ภูฏาน รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 17–19 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา การเจรจารอบนี้มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าซึ่งกำกับดูแลและติดตามการเจรจาในภาพรวม และการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย 8 คณะ ได้แก่ การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และ มาตรการเยียวยาทางการค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และ ประเด็นทางกฎหมายและสถาบัน ส่วนการเจรจารอบที่ 3  ยังไม่ได้มีการประกาศช่วงเวลาที่ชัดเจน

สำหรับอุปสรรคและหัวข้อในการเจรจาที่ค้างอยู่ รวมถึงหัวข้อที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย การเจรจา FTA ยุคใหม่ โดยเฉพาะกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป (EU) และแคนาดา จะมีมาตรฐานสูงทั้งระดับการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน รวมถึงกฎระเบียบ และมีประเด็นใหม่ๆ ตามพัฒนาการของการค้าในปัจจุบัน ซึ่งไทยโดยกรมเจรจาการค้า ระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาผลดี-ผลเสียอย่างรอบคอบและรอบด้าน เช่น การจัดซื้อ จัดจ้างโดยรัฐ การค้าดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องส าคัญที่ประเทศคู่เจรจาผลักดันในการเจรจา FTA กับไทยและข้อเรียกร้องบาง ประเด็นไทยยังไม่เคยเจรจามาก่อน

นอกจากนี้ ยังมี FTA ที่จะมีการทบทวนเพื่อยกระดับอีก 5 ฉบับ ได้แก่ ไทย-เปรู TPFTA อาเซียน-ไทย ATIGA อาเซียน-จีน ACFTA อาเซียน-อินเดีย และ อาเซียน- เกาหลีใต้ AKFTA

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี(FTA) ในปี 2567 (เดือนมกราคม-กันยายน) มีการส่งออกโดยขอใช้สิทธิ FTA มูลค่า 63,501.81 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 2.11 คิดเป็น สัดส่วนการขอใช้สิทธิฯ ร้อยละ 85.58 ของการส่งออก สินค้าที่ได้รับสิทธิฯ ที่มีมูลค่า 74,197.79 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ ในปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยมีมูลค่าการค้ากับอาเซียน 90,054.68 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 3.57 โดยเป็นการส่งออก 52,034.66 ล้านดอลลาร์ และนำเข้า38,020.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 14,014.64ล้านดอลลาร์

 สินค้าส่งออกสำคัญไปอาเซียน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และ ส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

 สินค้านำเข้าสำคัญจากอาเซียน ได้แก่ น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ