นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า แถลงผลงานครบรอบ 70 วัน ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ โดยประเด็นแรก คือ การกำกับดูแลสินค้าเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการประชุมคณะกรรมการรายสินค้า ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม และสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อกำหนดกรอบนโยบาย แผนงานและมาตรการการบริหารจัดการ รวมทั้งให้การช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร อาทิ การพัฒนาคุณภาพ ลดต้นทุนสามารถลดค่ารองชีพให้ประชาชนกว่า 15,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจภูธรภาค 8 จัดการอบรมเจ้าหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบการ ลานเทในพื้นที่ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนี้ ได้เตรียมประสานนำน้ำมันปาล์มราคาประหยัดไปจำหน่าย เพื่อเป็นการช่วยเหลือผ่านกลไกของร้านธงฟ้า
ทั้งนี้ นโยบายฟื้นฟูหลังอุทกภัยของรัฐบาล กรมฯ ได้จัดงานจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด “ธงฟ้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย และ “ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล โดยจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ และนำสินค้าจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัด กว่า 500-1,000 รายการ ลดสูงสุด 60% พร้อมจัดถุงยังชีพส่งลงพื้นที่น้ำท่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งประสานงานไปยังห้างค้าปลีกค้าส่งให้เตรียมสต๊อกสินค้า วัสดุก่อสร้าง สินค้าซ่อมแซมบ้าน สินค้าทำความสะอาดบ้านเรือน ให้มีจำหน่ายอย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถลดค่ารองชีพให้ประชาชนกว่า 15,000 ล้านบาท
สำหรับ แผนการลดค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการ ที่จะดำเนินการในระยะต่อไป คือ “พาณิชย์ลดราคา New Year Maga Sale 2025” ลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มพิเศษทั่วประเทศข้ามปีในเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่ ธ.ค. 67-ม.ค. 68 รวม 46 วัน โดยระหว่างวันที่ 17-19 ธ.ค. 67 โดยจะมีเปิดตัวโครงการที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะมีร้านมาออกบูธกว่า 250 บูธ ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดราว 4,800 ล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 14,400 ล้านบาท รวมถึงเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและกระตุ้นกำลังซื้อให้ประชาชน
ประเด็นสุดท้าย การปรับภาพลักษณ์การทำงานของกรม โดยจะมีการ Rebranding ธงฟ้า / ส่งเสริมให้ผู้บริโภคฉลาดเลือก ฉลาดซื้อสินค้าที่เข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้งยังจะยกระดับมาตรฐานงานชั่งตวงวัดให้เป็นสากล โดยพัฒนามาตรฐานของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศต่าง ๆ อาทิ สหพันธรัฐเยอรมัน เกาหลี และญี่ปุ่น เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในการใช้มาตรฐานเดียวกันกับของไทยต่อไป ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอน การตรวจบรรจุหีบห่อซ้ำ เมื่อสินค้าส่งผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีมาตรฐานเดียวกัน โดยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคนิคชั่งตวงวัดระหว่างไทย-ลาว เมื่อ 8 ต.ค. 67 สำหรับต่อไป จะยกระดับงานชั่งตวงวัดของไทย กับราชอาณาจักรกัมพูชา และฟิลิปปินส์ในลำดับถัดไป
นอกจากนี้ จะแต่งตั้งหน่วยตรวจ (Outsources) โดยให้ภาคเอกชนดำเนินการตรวจสอบให้คำรับรองแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อลดระยะเวลาในการรอคิวตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ อีกทั้งได้มีการตั้งเป้าเก็บค่าธรรมเนียมหัวจ่ายปั้มน้ำมัน ปัจจุบันมีการเก็บค่าธรรมเนียม 250บาท/ 1 หัวจ่าย/ปี โดย 1 ปั้มมีประมาณ 20-25 หัวจ่ายต่อปั้ม ที่ผ่านมากรมฯ จัดเก็บรายได้ส่วนนี้แค่ 25 ล้านบาทต่อปี แต่ปี 2568 ได้มีการตั้งเป้าไว้ประมาณ 100 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน มีการกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัดมีความทั่วถึงและครอบคลุมมากขึ้น ปัจจุบันมีหน่วยตรวจที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว 5 บริษัท รวมทั้งจะขยายขอบเขตการกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัด จากปัจจุบันที่มีการกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัด 45 ชนิด ให้เพิ่มเติมอีก 6 ชนิด ประกอบด้วย มาตรวัดไฟฟ้า แท็กซี่มิเตอร์ EV Charger เครื่องวัดลมยางรถยนต์ เครื่องวัดความเร็วรถยนต์ และเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจ
นอกจากนี้ จะยกระดับคือการปรับปรุงกฎหมายการค้าข้าว เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการรายเล็กที่จะสามารถช่วยนำพาเศรษฐกิจของไทยให้เข้มแข็ง พัฒนายั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น กรมฯ จึงได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายการค้าข้าว ให้มีการลดขั้นตอน/ภาระในการขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการค้าข้าวประเภทส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้ามาเป็นผู้ส่งออกข้าวเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การทำงานของกรมการค้าภายใน ทำได้ ทำไว ทำจริง จึงต้องมีการยกระดับการทำงานร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ โดยใช้กลไกของ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในส่วนภูมิภาคและขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป