จีดีพีไทยปี 68 เสี่ยงต่ำสุด 7 ปี “ทรัมป์”ป่วนโลก ไทยจ่อขาดดุลจีนพุ่งปรี๊ด!

17 ธ.ค. 2567 | 08:56 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2567 | 09:31 น.

“ดร.อัทธ์” ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ วิเคราะห์ความเสี่ยงเศรษฐกิจ-ส่งออกไทยปี 68 ชี้ภายใต้ “ทรัมป์” 2.0 เสี่ยงโตแค่ 2.05% ต่ำสุดรอบ 7 ปี ส่งออกโคม่า +1.9% จากถูกขึ้นภาษี 10% จับตาสินค้าจีนทะลัก ทำไทยขาดดุลจีนสูงสุดรอบ 6 ปี กว่า 1.6 ล้านล้านบาท

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจ และการส่งออก ของไทยในปี 2568 ภายใต้นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ที่จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568  โดยใจความสำคัญระบุว่า

ในปี 2025 หรือปี 2568 เป็นอีกหนึ่งปี ที่มีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกสูง และมีปัจจัยเสี่ยงรอบทิศทาง จากปัจจัยเสี่ยงเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมไปถึงประเด็นเสี่ยงใหม่ โดยเฉพาะจากนโยบาย “ทรัมป์ 2.0” ที่เน้นเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นหลัก “America First”

จากทั้งสองปัจจัยเสี่ยงข้างต้น จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในทางลบหรืออาจจะทางบวกต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการจัด “ระเบียบโลกใหม่” ที่เข้มข้นขึ้นในทุกมิติ ทั้งการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ การค้า ค่าเงิน เทคโนโลยี การรวมกลุ่มเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ   

ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลกและไทย มีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจต่ำ ที่ส่งผลต่อความต้องการสินค้า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง และนโยบายไม่ลดกำลังการผลิตของจีน เพื่อรักษาระดับการขยายตัวเศรษฐกิจให้ได้ในระดับ 5% ส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของอุตสาหกรรมในประเทศคู่ค้า จากสินค้าจีนที่ทะลักเข้าไปในประเทศ ปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 และไทยจะแสวงหาโอกาสอย่างไร และภาคการผลิตไทยจะปรับตัวอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดในปี 2568

เศรษฐกิจโลกปี 68 คาดหดตัว 0.4-0.6%

มุมมองเศรษฐกิจโลก ปี 2568 ของสถาบันต่างประเทศ ประเมินว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลก  มีอัตราการขยายตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2024 (2567) เช่น Goldmam Sachs ที่ 2.7% ส่วน IMF และ OECD อยู่ที่ 3.2% และเมื่อประเมินผลกระทบจากนโยบายการใช้ภาษีนำเข้าของทรัมป์ทุกด้าน (โดยศูนย์ศึกษาวิจัย บจก.อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์(ไออาร์ซี)) จะทำให้เศรษฐกิจโลกลดลง 0.4-0.6% โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7%

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวเพียง 1.7% และจีนมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่า 5%  และเยอรมนีได้รับผลกระทบมากที่สุดในยุโรป โดยมีอัตราการขยายตัวที่ 0.3%  (อย่างไรก็ตามผลการวิเคราะห์ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ)  

ไทยยังเป็น "ผู้ป่วยอาเซียน"ศก.โตรั้งท้าย

ปี 2568 เศรษฐกิจอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.5% เป็น 4.7% ประเทศเวียดนามและกัมพูชา เป็น 2 ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจมากที่สุดที่ระดับ 6.2% และเมียนมาเป็นประเทศที่มีขยายตัวต่ำสุดที่ 1.7%  สำหรับประเทศไทยยังคงเป็น “ผู้ป่วยของอาเซียนด้านเศรษฐกิจ” ที่มีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน และขยายตัวเป็น อันดับที่ 9 ของอาเซียน ที่ระดับ 2.4%

5 ปัจจัยเสี่ยงทำ GDP ไทยขยายตัวต่ำ

ในปี 2568 มี 5 ปัจจัยเสี่ยงหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ  ประกอบด้วย หนี้ครัวเรือน นโยบายการลงทุนและอัตราดอกเบี้ย นโยบายทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจจีน และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ภายใต้ฉากทัศน์ ที่สงครามยังอยู่ในพื้นที่ทั้งอิสราเอลกับประเทศตะวันออกกลาง และยูเครนและรัสเซีย ปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งคือ นโยบายเศรษฐกิจทรัมป์ 2.0 (Trumponomics 2.0)  ทำให้เศรษฐกิจไทยลดลง 0.3-0.5% ตามด้วยปัจจัยเศรษฐกิจโลกจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจจีน ตามลำดับ

เศรษฐกิจไทยศักยภาพต่ำรอบ 2 ทศวรรษ

การขยายตัวของตัวแปรเศรษฐกิจไทย เช่น การบริโภค การลงทุน การส่งออก และการนำเข้าที่เคยขยายตัวด้วยตัวเลข 2 หลัก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เช่น  การบริโภคขยายตัว 12.8% ในปี 1990(2533) แต่ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.3% เป็นต้น

โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวในช่วง 2.2-2.7% หรือเฉลี่ย 2.4% และหากทรัมป์เก็บภาษีสินค้านำเข้า 10% คาดจะทำให้การส่งออกของไทยจะขยายตัวเพียง 1.9% และจะทำให้ GDP ไทยขยายตัวระหว่าง 1.9-2.2% หรือเฉลี่ย 2.05% ซึ่งหมายความว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2025 (2568) จะขยายตัวต่ำสุดในรอบ 7 ปีตั้งแต่ปี 2019(2562) เป็นต้นมา

ส่งออกไทย “โคม่า” ขยายตัว 1.9%

สำหรับการส่งออกไทยในปี 2568 คาดขยายตัวช่วงระหว่าง 1.5-2.2% หรือเฉลี่ยขยายตัว 1.9% มูลค่าค่า  296,511-298,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากทรัมป์จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่ม 10% จะทำให้การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ลดลง 5-10% หรือลดลงมูลค่า 1-1.9 แสนล้านบาท ทำให้ส่งออกไทยรวมลดลงไป 2% การได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ ลดลงจาก 29,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะลดลงเหลือ 27,535 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงในรอบ 4 ปี ส่วนการนำเข้าจากสหรัฐฯ ของไทยจะเพิ่มเป็น 2 เท่าจากนโยบายของทรัมป์ที่จะลดการขาดดุลการค้า

สินค้าอุตสาหกรรม และเกษตรที่จะได้รับผลกระทบ

สินค้าอุตสาหกรรม 6 ชนิดที่คาดว่าจะถูกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ เพิ่ม 10% ภายใต้นโยบายของทรัมป์ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา เสื้อผ้า และพลาสติก เป็นต้น ในขณะที่สินค้าเกษตรที่คาดว่าจะถูกเก็บภาษีคือ ผลไม้ ยางพารา อาหารทะเล ข้าวและเครื่องดื่ม ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยที่ถูกเก็บภาษีเพิ่มจะส่งออกไปสหรัฐได้ลดลง รวมกว่า 2,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่า 5% 2 ปีติดต่อกัน

ขณะการที่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวต่ำกว่า 5% ในปี 2568 จะกระทบการส่งออกไทยไปจีน และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาไทยคาดว่าไม่เกิน 7 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2568 คาดโดยรวมจะอยู่ที่ 32-34 ล้านคน ขณะเดียวกัน สินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาในไทยมากที่สุด คือ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร สินค้าอุปโภค และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ไทยขาดดุลกับจีนสูงสุดในรอบ 6 ปี

“ผลกระทบที่จะตามมาหลังจากทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าจีนเพิ่ม 60% สินค้าจีนทะลักมายังอาเซียนและไทยมากขึ้น โดยในส่วนของไทยคาดจะเพิ่มขึ้น 20-30% คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น และจะสูงสุดในรอบ 6 ปี จาก 1.4 ล้านล้านบาทเพิ่มเป็น 1.6 ล้านล้านบาท”

ทรัมป์เก็บภาษีกลุ่ม BRICS  เวียดนามได้อานิสงส์มากสุด

กรณีหากทรัมป์เก็บภาษีสินค้าจากกลุ่มประเทศ BRICS  100% เวียดนามจะได้ประโยชน์สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่จะส่งออกไปสหรัฐทดแทนสินค้าในกลุ่ม BRICS ที่จะถูกสหรัฐขึ้นภาษี  ตามด้วยประเทศไทยได้รับอานิสงส์เป็นอันดับสอง โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปแทนที่สินค้าในกลุ่ม BRICS คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องจักร ชิ้นส่วนรถยนต์ ของเด็กเล่น ข้าวและผลไม้

ชะตากรรมเศรษฐกิจไทยปี 68 ภายใต้แรงกดดันขั้นวิกฤติ

โดยสรุปผลที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยใน ปี 2568 ภายใต้แรงกดดันรอบทิศทางดังที่กล่าวมาคือ

1.GDP ขยายตัวต่ำกว่า 2567

2.SMEs ไทยปิดตัวมากขึ้นและถูก take over โดยนักลงทุนต่างชาติ

3.การเก็บภาษี VAT เพิ่มขึ้นเป็น 15% ของไทย ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะกับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

“ประเทศไทยในปี 2568 ยังขาดการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้เงินงบประมาณเพื่อประชานิยม ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การว่างงานจะมีมากขึ้น จากเศรษฐกิจชะลอตัว การปิดตัวและลดขนาดของบริษัทไทย และเศรษฐกิจไทยยังถูกขับเคลื่อนจากต่างประเทศ ทั้ง FDI การส่งออก และนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นความเสี่ยง หากปัจจัยเหล่านี้ได้รับผลกระทบ” รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าว