จีนเดินเกมเสี่ยง รับมือภาษี “ทรัมป์ 2.0” ยอมแบกหนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ

11 ธ.ค. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2567 | 10:10 น.

จับตานโยบายจีนผ่อนคลายการเงิน-การคลังครั้งสำคัญ หวังรักษาเป้าหมายจีดีพี แม้ต้องแลกด้วยหนี้ที่พุ่งสูงเพื่อรับมือทรัมป์ 2.0

จีนประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจครั้งสำคัญ โดยพร้อมเดินหน้าใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบกว่า 14 ปี เพื่อรับมือแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

แถลงการณ์ล่าสุดจากการประชุมของคณะกรรมการกรมการเมืองระบุว่า รัฐบาลจีนจะเปลี่ยนจากนโยบายการเงินแบบ “เข้มงวด” สู่แนวทางที่ “ผ่อนคลายอย่างเหมาะสม” และเตรียมใช้นโยบายการคลังเชิงรุกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568 ซึ่งถือเป็นสัญญาณสำคัญที่สะท้อนว่าปักกิ่งให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าความเสี่ยงทางการเงิน

การปรับนโยบายครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีศุลกากรที่คาดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะเพิ่มขึ้นสูงถึง 60% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน นักวิเคราะห์เชื่อว่าแรงกดดันดังกล่าวอาจทำให้จีนต้องเพิ่มระดับการก่อหนี้อีก แม้ว่าหนี้ในระบบเศรษฐกิจของจีนจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ GDP เติบโตเพียง 3 เท่า

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ Greater China และ North Asia ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) ชี้ว่า นโยบายที่เปลี่ยนไปนี้ถือเป็น “ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ที่เปิดพื้นที่ให้ปักกิ่งสามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นได้หลากหลายรูปแบบในอนาคต

คริสโตเฟอร์ เบดเดอร์ รองผู้อำนวยการวิจัยของเกฟคัล ดรากอโนมิกส์ (Gavekal Dragonomics) มองว่าการตัดสินใจของจีนครั้งนี้สะท้อนถึงการยอมรับความจริงว่าหนี้สินต่อจีดีพีจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป โดยรัฐบาลกลางจำเป็นต้องเข้ามารับผิดชอบทางการคลังมากขึ้นแทนรัฐบาลท้องถิ่นที่มีหนี้สะสมอยู่ในระดับสูง

สำหรับขนาดของมาตรการกระตุ้นในปีหน้า นักวิเคราะห์มองว่าจะขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ หากภาษีศุลกากรถูกกำหนดไว้ในระดับสูงสุดตามที่ขู่ไว้ จีนอาจต้องเพิ่มขาดดุลงบประมาณเป็น 4% จาก 3% ในปี 2567 ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน

แลร์รี ฮู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนจากแมคควอรี (Macquarie) ชี้ว่า เป้าหมายหลักของจีนคือการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ใกล้เคียงกับ 5% ในปีหน้า เพื่อแสดงให้เห็นว่าปักกิ่งจะไม่ยอมถอยต่อแรงกดดันของสหรัฐฯ แม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะยากต่อการบรรลุ

การปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าจีนกำลังเปลี่ยนจุดสนใจจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไปสู่การกระตุ้นการบริโภคและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า การเพิ่มการบริโภคในประเทศจะเป็น “ภารกิจสำคัญอันดับ 1” ของจีนในปีหน้า อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายในด้านนี้ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ในขณะเดียวกัน จูเลียน อีแวนส์-พริทชาร์ด นักวิเคราะห์จากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) มองว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินในจีนอาจไม่มีประสิทธิภาพเหมือนในอดีต เนื่องจากความต้องการกู้ยืมของครัวเรือนและภาคเอกชนลดลงอย่างมาก แม้จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

ปัญหาที่ท้าทายอีกด้านที่จีนเผชิญคือแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และความไม่มั่นคงในระบบสวัสดิการสังคม ซึ่งทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม การประชุมประจำปีของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอีกไม่กี่วันข้างหน้าอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการกำหนดนโยบายและเป้าหมายเศรษฐกิจของปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการเติบโต การขาดดุลงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

อ้างอิง: Reuters