เศรษฐกิจภูมิภาค 2568 ฟื้นตัว คาด GDP ปีหน้าโต 3%

18 ธ.ค. 2567 | 08:41 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2567 | 09:24 น.

ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาคในปี 67-68 มีแนวโน้มฟื้นตัว รับแรงหนุนการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้น ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 68 คาดโต 3%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ประเมินว่าจะเติบโต 2.6-2.8% ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ 2 ไตรมาสที่มีการฟื้นตัว ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของไทยฟื้นตัวตาม

ทั้งนี้ จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ทางเอกชน หอการจังหวัด ยังมองว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ดี เพราะภาวะเศรษฐกิจรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แต่มีความหวังว่าในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีหน้าเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น

“จากมุมมองเศรษฐกิจจะค่อยดีขึ้น ภายใต้ “ทรัมป์” จะไม่ได้มีมาตรการที่ออกมารุนแรงจากที่คาด จากที่ประเมินไว้ว่าขึ้นภาษีนำเข้าของไทยเพียง 10% แต่หากขึ้นมากกว่านี้ สงครามการค้าก็จะเกิดขึ้น และก็คาดหวังว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะดี จีนมีการคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจโต 5% มีนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และคาดหวังธนาคารกลางทั่วโลกจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง”

ขณะเดียวกัน ได้มีการประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการเติบโต 2.2-2.4% จีนเศรษฐกิจโต ยุโรปฟื้น ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย ขณะที่การท่องเที่ยวคาดว่าปีนี้ 36 ล้านคน และในปีหน้าแตะ 40 ล้านคน รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงปลายปี มาตรการลดหย่อนภาษี

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2568 คือการแจกเงิน 10,000 บาทของคนที่มีอายุ 60 ปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท มาตรการคุณสู้ เราช่วย คาดว่ามีเงินหมุนในระบบทั้งปี 80,0000-100,000 ล้านบาท มาตรการ 1,000 บาท ช่วยเกษตรกร เงินหมุนเวียน 40,000 ล้านบาท จากมาตรการและเงินหมุนเวียนที่จะเข้ามาระบบเศรษฐกิจ จะมีผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาที่ 1 ของปี 2568 ดีขึ้น และจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ผลกระทบรวมไปถึงการจับจ่ายและการลงทุนของภาครัฐ จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของไทยโตได้

ด้านนายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยการประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาคในปี 2567-2568 ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัว 3.0% (เพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปี 2567) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคบริการ (+4.0%)

โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมฟื้นตัวเล็กน้อยที่ 1.6% และ 1.5% ตามลำดับ

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 3.3% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ) เนื่องจากมีสัดส่วน 46.6% ของ GDP รวม โดยได้แรงหนุนจากภาคบริการที่คาดว่าจะเติบโต 4.0% และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น

 

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกจะเป็นภูมิภาคที่มีการฟื้นตัวโดดเด่น โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 3.1% และ 2.6% ตามลำดับ เพราะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

 

  • ภาคบริการจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกภูมิภาค โดยคาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.8-4.7% ทั่วประเทศ ส่วนภาคเกษตรและอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาภาคบริการมากขึ้น

 

  • ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่  ความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ , โอกาสที่ไทยอาจถูกสหรัฐขึ้นภาษี 10-15% และ ความเสี่ยงจากสงครามที่อาจขยายตัวเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต่ำกว่ากรณีฐาน

 

  • การวิเคราะห์สถานการณ์แสดงให้เห็นช่วงการเติบโตที่เป็นไปได้ของแต่ละภูมิภาค โดยในกรณีที่ดีที่สุด (Better Case) พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจขยายตัวสูงถึง 4.6% แต่ขณะที่ในกรณีที่แย่ที่สุด (Worse Case) อาจโตได้เพียงแค่ 1.1% สะท้อนความอ่อนไหวของเศรษฐกิจ ต่อปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ