ปีใหม่ 68 คึกคัก ม.หอการค้าฯ คาดเงินสะพัด 1 แสนล้าน

24 ธ.ค. 2567 | 07:36 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2567 | 09:25 น.

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ประเมินพฤติกรรมและการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 คาดเงินสะพัด 109,313 ล้านบาท ชี้คนนิยมไหว้พระ-ช้อปปิ้ง-สังสรรค์ ขณะเที่ยวในประเทศครองแชมป์ใช้จ่ายสูงสุด 4.5 หมื่นล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ “พฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2568" พบว่า แผนการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่ 2568 อยู่ที่ 109,313 ล้านบาท ทั้งนี้ การใช้จ่ายในปีนี้คาดขยายตัว 3.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2567 จะอยู่ที่ 2.6%

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

"สถานการณ์ปีใหม่คึกคักสอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างยังมีความระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่าย" 

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินในช่วงปีใหม่ พบว่า ใช้จ่ายสำหรับตนเอง 63.3% ใช้จ่ายสำหรับผู้อื่น 0.1% และใช้จ่ายทั้งตนเองและผู้อื่น 36.6% โดยการวางแผนทำกิจกรรมช่วฃปีใหม่ พบว่า ไปไหว้พระ 22.3% ไปซื้อของ 19.8% สังสรรค์ 15.7% พักผ่อนอยู่บ้าน.14.4% ท่องเที่ยวในประเทศ 13% ไปเยี่ยมญาติ 10.8% ท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.9% ไปดูหนัง 1.1% ไปปฏิบัติธรรมอยู่วัด 1% ไปสวนสนุก 0.1% 

 

ปีใหม่ 68 คึกคัก ม.หอการค้าฯ คาดเงินสะพัด 1 แสนล้าน

สำหรับ การเปลี่ยนแปลงมูลค่าการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ มีการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย (เครื่องประดับ/ทอง) เพิ่มขึ้น 91.8% ไปดูหนัง เพิ่มขึ้น 61.5% พักผ่อนอยู่บ้าน 54% ขณะที่ของขวัญยอดนิยมในช่วงปีใหม่ มีการจัดเลี้ยงสังสรรค์ 32.4% ซื้อกระเช้าของขวัญ 28.8% ซื้อสินค้าหัตถกรรมไทย 12.4% เงินสด/เช็คของขวัญ 11.4% 

ขณะที่แหล่งที่มาของเงินใช้จ่าย พบว่าประชาชนนำเงินเดือนมาใช้จ่าย 63.6% เงินออม 33.1% เงินช่วยเหลือจากภาครัฐ 1.7% เงินโบนัส 1.3% อื่น ๆ 0.3%

 

ปีใหม่ 68 คึกคัก ม.หอการค้าฯ คาดเงินสะพัด 1 แสนล้าน

สรุปแผนค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่ พบว่า เลี้ยงสังสรรค์ มีมูลค่า 14,739 ล้านบาท ทำบุญ 11,280 ล้านบาท อุปโภคบริโภค 20,521 ล้านบาท สินค้าคงทน 5,048 ล้านบาท สินค้าฟุ่มเฟือย 2,859 ล้านบาท ไปเที่ยวในประเทศ 45,997 ล้านบาท เที่ยวต่างประเทศ 5,475 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายที่ประชาชนในช่วง ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2567 - 5 มกราคม 2568 ประมาณ 109,313 ล้านบาท