ทายาทรุ่นที่ 2 ของเอสที วิดีโอ บริษัทโฮมวิดีโอที่มีทั้งคอนเทนต์และช็อปให้ซื้อและเช่าในยุคเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนี้ธุรกิจนั้นได้ตายสนิทไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จนทำให้รุ่นลูกอย่าง “คุณแอน” ต้องปรับตัวครั้งใหญ่
“มันคือมีเดียทรานส์ฟอร์ม เครื่องมือ สื่อสารมีการเปลี่ยนแปลง เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอด และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอีก เราต้องไม่กระทบ...งั้นเราต้องเปลี่ยนมาขายของที่อยู่ในวีซีดี ดีวีดี บลูเรย์ ซึ่งมันก็คือ คอนเทนต์นั่นเอง...แต่กว่าจะเข้าใจคำนี้ ก็ตอนอายุ 25 ปีนะ”
“คุณแอน” เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น ก่อนก้าวเข้าสู่แวดวงธุรกิจคอนเทนต์อย่างเต็มตัว และเมื่อรู้เป้าหมายแล้ว เขาก็เดินทางหาความรู้ไปยังประเทศต่างๆ เพื่อไปรับฟังข่าวสาร ไปฟังสัมมนา อัพเดตข้อมูล และทำความรู้จักคนโน้นคนนี้ พร้อมทั้งสร้างเน็ตเวิร์ก จนสามารถนำเข้าคอนเทนต์ดีๆ จากทั่วโลก มาขายให้กับคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน เริ่มต้นจากรายได้หลัก 10 ล้าน ขยับมาเป็น 100 ล้าน
ก่อนหน้านี้ เคยเข้าร่วมทุนกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ตั้งบริษัท เจเคเอ็นฯ ขึ้นมาบริหารช่องทีวีดาวเทียม แต่ในที่สุดก็แยกตัวซื้อหุ้นคืน แล้วออกมาตั้งเป็นบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดียฯ และด้วยเป้าหมายการเป็นเจ้าคอนเทนต์ระดับโลก 3 ปีหลังจากนั้นจึงนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ เมื่อกลางปี 2559 เพื่อระดมทุนไปขยายงานด้านโกลบัลคอนเทนต์เพิ่มขึ้น และขณะเดียวกัน ก็มีแผนนำคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดโลก
“เราเป็นนักสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ถ้าแค่ซื้อมาขายไป ไม่ใช่อาชีพเรา เราเป็น Content Factory เราเป็นโรงงานผลิตคอนเทนต์ คอนเทนต์ที่มาจากต่างประเทศมันก็มาดิบๆ ใครจะไปกินล่ะ มันต้องทำให้สุกก่อน ต้องผ่านกรรมวิธีหลายอย่าง แปล พากย์ เกาบท มิกซ์เสียง ทำการตลาดทั้งบีโลว์เดอะไลน์ อะโบฟเดอะไลน์ ทำทั้งเพลงประกอบให้ คอนเทนต์เราแต่ละเรื่องมันดัง มันดังมาจาก การตลาดที่เราทำ ทำการตลาดเยอะมาก”
หัวใจในการทำตลาดคอนเทนต์ คือ การเลือกคอนเทนต์ที่ถูกกับตลาด ซีอีโอคนนี้ยอมรับว่า ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา มีเลือกถูกเลือกผิด ผิดจนปัจจุบันนี้กลายเป็นแม่หมอ ที่สามารถดูแล้วรู้ว่า เรื่องไหนจะเกิด เช่น สีดาราม อโศกมหาราช นาคิน หนุมานพระศิวะรวมไปถึงซีรีส์ฝรั่ง เกาหลี ญี่ปุ่น และคอนเทนต์อื่นๆ จากทั่วโลก โดยการเลือกคอนเทนต์จะไม่เลือกซื้อตามกระแส อะไรที่แพงเกินไปจะไม่ซื้อ
“เราผิดพลาดจนเข้าใจ มันทำมาเยอะ จนรู้ว่าแบบนี้ใช่ แบบนี้ไม่ใช่ รู้ว่าอันนี้เสิร์ฟสเต็กไม่ได้ ต้องเสิร์ฟส้มตำมันเป็นความเชี่ยว ชาญที่ต้องสะสมประสบการณ์”
หากแต่ผู้บริหารคนนี้ ไม่ได้เก็บความรู้ไว้คนเดียว เขาพยายามถ่ายทอดให้ทีมงาน ผ่านคู่มือการทำงาน
“ถ้าเป็นสารคดี ต้องป่า เขา ธรรมชาติ โลกของเรา บ้านของเรา อย่าเอาสารคดีวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์มา ถ้าเป็นซีรีส์ฝรั่ง คือ แอกชัน สัตว์ประหลาดมหัตภัย ห้ามเอาดราม่ามา ละครเอเชีย ถ้าเป็นคอสตูมจีนจะดี ต้องโม้เยอะ อภินิหาร เทพอสูรมังกรฟ้า แต่ถ้าเป็นโมเดิร์น พระนางต้องอยู่ในดวงใจ มีแฟนคลับเยอะต้องหล่อสวย...เป็นคู่มือเลย หนามาก”
นั่นคือตัวอย่างคู่มือ ที่ “คุณแอน” จัดทำเป็นสูตรให้ทีมงาน แต่แม้จะมีสูตร ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับสูตรอาหาร ที่ได้สูตรเดียวกันมาแต่ทำแล้วก็รสชาติต่างกัน เพราะฉะนั้น นอกจากทำคู่มือแล้ว “คุณแอน” ยังต้องสอนให้ทีมงานเข้าใจในสูตรนั้น และเข้าใจกับสูตรการทำงาน พาทีมงานไปเรียนรู้ที่หน้างาน ซึ่งแต่ละคนที่เป็นทีมพัฒนาคอนเทนต์จะมีการเซ็นสัญญาระยะยาว
งานของเจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ขณะนี้มี 3 ส่วน คือ 1.นำเข้าคอนเทนต์จากต่างประเทศ ซึ่งส่วนนี้จะซื้อเพิ่มและซื้อลิขสิทธิ์ลึกขึ้น เช่น สามารถทำการลงทุนร่วมกันได้ หรือทำ การผลิตร่วมกันได้ถ้ามีโอกาส ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าคอนเทนต์ในมือกว่า 1,000 ล้านบาท และมีงบการจัดซื้อคอนเทนต์ปีละ 800-900 ล้านบาท 2. ผลิตคอนเทนต์ไทยส่งออกสู่ทั่วโลก และ 3.พัฒนาฮาร์ดเแวร์ ซอฟต์แวร์ ที่ว่าด้วยการจัดเก็บ จัดการ จัดจำหน่าย คอนเทนต์ นอกจากนี้ ยังมีช่องรายการทีวีดาวเทียม เจเคเอ็น ช่องข่าวของซีเอ็นบีซี เจเคเอ็นอาร์ติสต์ แมเนจเมนต์ และเจเคเอ็น โนว์เลจ ซึ่งทุกส่วนงานจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ และสนับสนุนซึ่งกันและกัน
การสร้างอาณาจักรของ เจเคเอ็น ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ยังมีงานอีกหลายอย่างที่ ผู้บริหารคนนี้กำลังเดินหน้า และพร้อมที่จะขยายธุรกิจไปอีกเรื่อยๆ โดยหลักในการทำงานของผู้บริหารคนนี้ก็คือ การนำแรงบันดาลใจ ความรักความชอบในงาน มาเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำธุรกิจ...จะไม่ใช้แรงจูงใจ ถ้าคุณอยู่กับแรงจูงใจ คือ คุณต้องการเงินๆๆๆ คุณจะไม่ได้เงิน แต่ถ้าใช้แรงบันดาลใจ ใช้ความรักความหลง คุณจะใส่มันเต็มที่ แล้วงานมันจะดี และเงินจะมาเอง
นี่คือหลักคิด และแนวทางการทำงานของเจ้าของอาณาจักรเจเคเอ็น “จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์”
เรื่อง :พัฐกานต์ เชียงน้อย / ภาพ : สิทธิศักดิ์ วงศ์ปรากฏ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560