ด้วยหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลภาพรวมด้านปฏิบัติการ ด้านกฎหมาย ข้อกำหนดต่างๆ และนโยบายบริษัทภาพรวม เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของแอสเซนด์ มันนี่ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา
“มนสินี” ถือเป็นหญิงแกร่งมากความสามารถ เธอมีดีกรีปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ เอกไฟฟ้าสื่อสาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท MBA, Massachusetts Institute of Technology มีประสบการณ์การทำงานกับบริษัทไอทีต่างชาติ อาทิ Intel Corporation ที่สหรัฐอเมริกา และ Lucent Technologies ประเทศสิงคโปร์ และเป็นผู้ปั้นอี-คอมเมิร์ซของทรู อย่าง Weloveshopping
ผู้บริหารหญิงคนนี้เล่าว่า การก้าวขึ้นมารับหน้าที่ตรงนี้ ต้องดูแลตั้งแต่พื้นฐานเบื้องต้น คือ เรื่องของคน เพราะคนคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร การรับคนโดยเฉพาะคนที่จะคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้นำ เรื่อง Mindset หรือกระบวนการทางความคิด เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เนื่องจากธุรกิจของทรูมันนี่ต้องการคนที่มี Passion ในการแก้ปัญหา เพราะงานของทรูมันนี่ คือ การนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาให้กับพาร์ตเนอร์ หรือลูกค้า เพราะฉะนั้นคนทำงาน ต้องมีจิตใจที่พร้อมจะแก้ปัญหา ด้วยพันธกิจที่ชัดเจนขององค์กร คือ ทำให้คนสามารถเข้าถึงการทำธุรกิจทางการเงินได้ด้วยเทคโนโลยี เวลาสัมภาษณ์คนเข้าทำงาน เธอจะถามก่อนเลยว่า ทำไมถึงอยากมาทำงานที่ทรูมันนี่ และที่ผ่านมา เขามีการแก้ปัญหา และเพิ่มมูลค่าให้กับงานของเขาได้อย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่บอกให้เห็นถึงคาแรกเตอร์ของคนคน นั้น
“มนสินี” ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบ agile คือ ไม่คิดอะไรที่เป็นไซโล มองลูกค้าเป็นหลัก มองปัญหาและช่วยเหลือลูกค้า คิดนอกเหนือจากบทบาทของตัวเอง และต้องพร้อมทำงานร่วมกับหลายๆ ทีม โดยจะมีวิธีการสร้างทีมแบบ ไคเซน (KAIZEN) ซึ่งจะมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างไม่สิ้นสุด คิดแล้วลงมือทำ ผิดพลาดได้ แต่ต้องรีบแก้ไข เรียนรู้ให้เร็ว
“เราต้องการให้ที่นี่เป็น Learning organization ทุกวันคือการเรียนรู้ คนที่ใจเปิดเ พร้อมเรียนรู้ และมาเพื่อแก้ปัญหา พอมาอยู่ในองค์กรที่ทุกวันคือการเรียนรู้ แล้วเขาจะสนุก องค์กรของเราเป็นเสมือนนํ้า agile และ flexible มากๆ ถึงเวลานิ่งก็นิ่ง ถึงจังหวะที่ต้องมีแรงกระแทกก็มี พร้อมที่จะปรับไปตามสถานการณ์”
“มนสินี” บอกว่า องค์กรฟินเทค ที่เติบโตมาจากการเป็นสตาร์ตอัพ การทำงานลักษณะไคเซนและ Agile จะสำคัญมาก เพราะทุกอย่างต้องเคลื่อนไหวเร็ว ไดนามิกมากๆ นวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าต้องมีการบาลานซ์ความเสี่ยงที่ดี ต้องออกบริการใหม่ๆ ให้ไว และระบบต้องสเกล หรือมีการขยายตัวได้ เพราะฉะนั้น คนทำงานต้องพร้อมที่จะลงมือทำ กล้าตัดสินใจ พร้อมเสมอที่จะทดลองและเรียนรู้ ทีมงานที่ดูแลด้านความเสี่ยง ไม่ใช่คนที่มีหน้าที่บอกให้หยุด เขาต้องเข้าใจธุรกิจและต้องบริหารความเสี่ยงได้ (calculated risk) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อไม่ให้ประสบการณ์ของลูกค้าเสีย...ง่ายสุดคือบอกไม่ทำ ก็คือไม่เสี่ยง แต่แบบนั้นคือ ธุรกิจก็ไปไม่ได้ ปัญหาลูกค้าจะไม่ถูกแก้
ผู้บริหารหญิงคนนี้ เป็นคนที่มีพร้อมทั้งความเร็ว (Fast) และสปีด (speed) และเธอได้ส่งทอดความเร็วและสปีดให้กับทีม เพื่อใช้ในการให้บริการลูกค้า โดยความเร็วนั้นต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย บริหารความเสี่ยงได้ และมีความยืดหยุ่นในการตอบโจทย์ลูกค้า
เมื่อถามว่า ตอนนี้เธอคิดว่าองค์กรของเธอ ทำสิ่งเหล่านั้นได้ดีหรือยัง “มนสินี” ตอบทันทีเลยว่า ยังต้องดีได้อีก เพราะด้วยสปิริตขององค์กรคือ การปรับปรุงตัวเองตลอดเวลา พัฒนาตลอดเวลา ดังนั้นช่วงนี้ เธอจึงปรับปรุงแพลตฟอร์มการทำงานเสียใหม่ เพื่อให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และทำให้ทุกส่วนมีความเชื่อมต่อกันในการทำงาน โดยยังคงสปีดในการทำงาน สามารถนำเสนอโซลูชันได้เร็วขึ้น ซึ่งการแบ่งแพลตฟอร์มการทำงานใหม่ เป้าหมายใหญ่คือ การสร้างให้ทีมเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Entrepreneur) เพราะนั่นจะทำให้ทีมงานทุ่มเท และรอบคอบในการทำงาน มีดีเอ็นเอในการทำธุรกิจสูง
แม่ทัพหญิงคนนี้ทิ้งท้ายว่า องค์กรต้องให้คุณค่ากับการเรียนรู้ และการเรียนรู้ไม่ใช่ในตำรา แต่การเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำ พลาดไม่เป็นไร แต่ต้องเรียนรู้แล้วนำมาปรับ...จากวิธีการบริหารที่พร้อมพัฒนาและเรียนรู้ ทำให้องค์กรแห่งนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีโปรดักต์ใหม่ออกมาให้ลูกค้าได้ทดลองใช้อยู่เรื่อยๆ เธอบอกว่า หลายๆ อย่างที่ทำได้ดีแล้ว แต่หลายๆ อย่างนั้น ก็ยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ เพราะทุกอย่างต้องขยายและเติบโต หาสิ่งที่ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด สะดวกกว่าเดิม ตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์ที่ดีกว่า ให้กับลูกค้า...นั่นคือสิ่งที่ผู้นำหญิงคนนี้ต้องการ
หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,408 ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2561