NET ZERO มุมมองความท้าทายบทใหม่ ผู้นำ SCG

18 มิ.ย. 2565 | 02:04 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2565 | 22:05 น.

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับผลกระทบหลายด้าน ที่ส่งผลโดยตรงกับภาพรวมเศรษฐกิจ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจต่างประเทศ สภาพภูมิอากาศ โรคระบาด และสงคราม รวมถึงโจทย์ NET ZERO 2050

สำหรับ “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ทั้งหมดนั่นคือความท้าทายที่ต้องฟันฝ่า

 
ตลอดระยะที่รับตำแหน่ง ผู้นำเบอร์หนึ่งขององค์กร “รุ่งโรจน์” รับมือครบหมดทุกสถานการณ์ที่กล่าวไป แต่ในฐานองค์กรใหญ่ ที่มีวัฒนธรรมองค์กรชัดเจน คือ การเสริมสร้างค่านิยมและกำหนดนโยบายการพัฒนาคนเอสซีจีให้เป็นหนึ่งเดียว และมุ่งสู่จุดหมายร่วมกัน พร้อมทั้งสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรม ที่ส่งเสริมการกล้าเปิดใจรับฟัง กล้าคิดนอกกรอบ กล้าพูดกล้าทำ กล้าเสี่ยงกล้าริเริ่ม และมีความพร้อมกับการหมุนเวียนไปปฏิบัติงานในประเทศอื่นๆ 

ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน ทำให้เอสซีจีเดินหน้า สร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต่อเนื่อง และยังช่วยเหลือสังคม มีการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ หรือนวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ เข้ามาเสริมพลังให้กับประเทศในการรับมือกับโรคระบาดโควิด -19 และยังเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจ ที่ทำให้เอสซีจีมีโปรดักต์ใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

NET ZERO มุมมองความท้าทายบทใหม่ ผู้นำ SCG
อีกหนึ่งความท้าทายใหม่ เมื่อโลกกำลังจะหลุดพ้นจากโรคระบาดโควิด-19 สิ่งที่ทุกประเทศต้องเร่งมือทำโดยด่วนคือ การแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก หรือภาวะโลกร้อน อันเกิด จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง “รุ่งโรจน์” ยอมรับว่า กลุ่มเอสซีจี เป็นหนึ่งในผู้ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ด้วยธุรกิจ 3 ขาหลัก คือ 

1. เคมิคอลส์ 2. ซีเมนต์ - วัสดุก่อสร้าง และ 3. แพ็คเกจจิ้ง โดยกว่าครึ่งหนึ่งของธุรกิจเหล่านี้ เป็นธุรกิจที่ SCG ค้าขายร่วมกับต่างประเทศ ทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน และยุโรป ดังนั้น การเดินหน้าธุรกิจจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการหรือกฎใหม่ที่แต่ละประเทศคู่ค้ากำหนดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันก็ถือเป็นความท้าทายและโอกาสที่สำคัญที่จะทำให้เอสซีจีปรับตัวเข้าสู่ระดับมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ 


“เอสซีจี อาจจะมองได้ว่า มันเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง มันเหมือนจะทำให้ธุรกิจของเอสซีจีอยู่ไม่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันมีโอกาสที่เราจะทำตัวให้เอสซีจี เข้าไปอยู่ในระดับมาตรฐานของโลก ด้วยการลดคาร์บอน”  


ซีอีโอเอสซีจีกล่าว และเชื่อมั่นว่า เอสซีจีสามารถบริหารจัดการกระบวนการผลิต ให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าแน่นอน ทั้งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา และปัจจุบัน ที่มีการตรวจสอบติดตามผลต่อเนื่อง


การเดินหน้าสู่เป้าหมาย NET ZERO 2050 “รุ่งโรจน์” บอกว่า เอสซีจี มี ESG 4 Plus ที่กำหนดเป็นแนวทาง ซึ่งประกอบด้วย 

  1.  Environmental มุ่ง Net Zero ปี 2050
  2. Go Green
  3. Lean เหลื่อมล้ำ
  4. ความย้ำร่วมมือ 

 

“เรามองว่า ESG ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องเกิดความร่วมมือจึงจะสำเร็จ ในที่นี้คือ ความร่วมมือในทุกระดับ รวมถึงองค์กรระดับโลก และต้องเป็นความร่วมมือ ที่โปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งเป็น Plus ที่ขาดไม่ได้เช่นกัน”


นอกจาก ESG ทำคนเดียวไม่ได้แล้ว ในมุมมองของผู้บริหารท่านนี้ เรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องทำไปด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐบาล ที่ต้องมีนโยบายชัดเจน และต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าสำคัญมากๆ มิเช่นนั้น ในภาคปฏิบัติคงสับสน และต้องมาเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งนั่นหมายความว่า คือ ความล้มเหลวของทั้งเป้าหมายองค์กรและประเทศ 
  NET ZERO มุมมองความท้าทายบทใหม่ ผู้นำ SCG

“เรื่องของนวัตกรรมและไทม์ไลน์ในการอิมพลีเม้นท์ เราเชื่อว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่าแผน แต่เราไม่รู้ว่าแผนจะเปลี่ยนเมื่อไร การทำงานต้องทำด้วยกันมากๆ 
 เรื่องนโยบายต่อเนื่อง สำคัญมากๆ และมีความจำเป็นที่จะต้องแยกให้ออก อุตสาหกรรมที่เราอยากสนับสนุน หรืออยากให้ลด นโยบายต่อเนื่องต้องชัดเจน ภาครัฐมีบทบาทมาก และบทบาทที่ต้องเดินไปด้วยกัน บาลานซ์ไปด้วยกันให้ดี ทั้งเศรษฐกิจ สุขภาพ ความเป็นอยู่ของคน” 
 

อีกสิ่งหนึ่ง ที่ผู้นำท่านนี้เสนอแนะไว้ คือ การเปิดรับฟังความคิดเห็นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะพวกเขาคือ คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่คนยุคปัจจุบันกำลังพยายามปรับเปลี่ยน  

 

“รุ่งโรจน์” ย้ำว่า หลายๆ เรื่องของการดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมาย NET ZERO ของประเทศ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำร่วมกัน เพราะขณะนี้ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้เปราะบางของประเทศ มีทางไหมที่จะทำให้คนที่ได้ประโยชน์ คือคนเหล่านี้ การที่รัฐบาลจะมานั่งถามภาคเอกชนว่า ต้องการอะไร แล้วรัฐมาซัพพอร์ต แบบนี้ไม่เวิร์คแล้ว เพราะทุกฝ่ายต้องทำงานไปด้วยกัน จึงจะสามารถสร้างอิมแพ็คที่ถูกทางถูกที่ถูกเวลาได้

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,792 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565