เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากวิสัยทัศน์ของแม่ทัพนิวเจน ที่ลุกขึ้นปรับภาพลักษณ์ธุรกิจทันที จากภาพของแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ระดับลักซ์ชัวรี่ที่มีอายุ ลดระดับมาสู่แบรนด์ของคนรุ่นใหม่ ที่ทันสมัย เคลื่อนไหวเร็ว
“กรณ์” ประกาศรีแบรนด์ตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่ม Young Gen ที่มีกำลังซื้อสูง ด้วยกลยุทธ์ Branded Residences จนสามารถพลิกฟื้นรายได้จากขาดทุน 5 ไตรมาส สู่กำไรสุทธิ 138 ล้านบาท สวนกระแสโควิด-19
ประสบการณ์จากธุรกิจในครอบครัว ที่ทำทั้งธุรกิจโรงเรียนดนตรี และอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้แบรนด์ เคพีเอ็น ทำให้ “กรณ์” มีความพร้อมค่อนข้างมาก สำหรับการเข้ามาพลิกฟื้นไรมอน แลนด์ ให้กลับมาเป็นเจ้าตลาดอสังหาริมทรัพย์แบรนด์ลักชัวรี่อีกครั้ง โดยสิ่งที่หนุ่มนักบริหารคนนี้มองเห็นก็คือ การปิดช่องโหว่ของรายจ่าย และสร้างเสริมรายได้ให้มีความมั่นคง
เขาชูกลยุทธ์ 3 เรื่องหลัก ด้วยการสร้างดีเอ็นเอใหม่ Branded Residences ซึ่งถือเป็นนิวอีร่าของธุรกิจอสังหาลักซ์ชัวรี่ ที่มีโอกาสการเติบโตสูง เพราะโครงการในแบบ Branded Residences คือ โครงการ พัฒนาอสังหาริมทรัพย ร่วมกับแบรนด์ระดับโลก เป็นการนำเชนโรงแรมที่ได้รับความเชื่อถือและมีศักยภาพเข้ามาสวม ยกระดับความเป็นอยู่ของลูกบ้านให้มีความพรีเมี่ยมยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการ เพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ให้กับผู้ซื้อ และตลาดนี้ เป็นตลาดที่กำลังเติบโตสูง โดยปี 2564 เติบโตมากถึง 230% จาก 133 แบรนด์ทั่วโลก ในขณะที่ไทย ถือเป็นทำเลที่มีโครงการ Branded Residences มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา
สำหรับไรมอน แลนด์ โครงการแรกที่เป็น Branded Residences คือ Rosewood Residences Kamala ภูเก็ต ที่ร่วมกับ Rosewood เชนโรงแรมดังระดับโลก โครงการนี้มีวิลล่า 14 หลัง ราคาต่อหลังจะเริ่มที่หลักหลายร้อยล้านบาท จนไปถึงหลังใหญ่สุดราคาเฉียดพันล้าน เปิดตัวภายในต้นไตรมาส 3 ปีนี้
“ทำไมไดเร็คชั่นของเราจึงมุ่งเน้นที่ลักชัวรี่ ตอนนี้ตลาดอสังหาโอเว่อร์ซัพพลายจริง แต่ตลาดลักชัวรี่ไม่ มัน under supply ห้องขนาดใหญ่ยังมีความต้องการ โควิด ทำให้คนอยู่บ้าน คนให้ความสำคัญกับการเป็นอยู่มากขึ้น อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ นักลงทุนยุคใหม่ ปรับพอร์ตไปที่อสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เพราะมันยั่งยืน ส่งต่อได้ เพิ่มมูลค่าได้ คนมีตังค์อยากซื้ออสังหาไปเรื่อยๆ เราจึงเข้ามาเสริมตลาดนี้”
อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ คือ การ Joint Venture ร่วมกับเจ้าของที่ดิน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดดอกเบี้ย ขณะรอเวลาในการพัฒนาโครงการ นอกจากนี้ “กรณ์” ยังตัดปัญหารายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ มีรายได้เข้ามาแบบฟันหรอ ด้วยการขยายสู่ตลาดบ้านและวิลล่า ที่ใช้ระยะการก่อสร้างน้อยกว่าคอนโดมิเนี่ยม พร้อมมีการจัดพอร์ตวางแผนระยะยาว 5-10 ปี เพื่อสร้างการรับรู้รายได้ที่ต่อเนื่อง
การสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับไรมอน แลนด์ “กรณ์” ยังมองไปถึงนิวบิซิเนส ที่ล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลกด้านเทคโนโลยี ด้วยการลงทุนทำ Data Center โดยร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา บริษัท Nautilus Data Technologies ซึ่งเป็นผู้นำ Green Data Center ที่ใช้น้ำในการ cool down คอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถประหยัดพื้นที่ ประหยัดต้นทุนประมาณ 20% น้ำที่ปล่อยออกมาก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่า ได้ทั้งธุรกิจใหม่ที่มีความเสถียรในการทำรายได้แล้ว ยังได้เป็นอีกขาหนึ่งของการลงทุนด้านความยั่งยืน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง ESG ซึ่ง “กรณ์” บอกว่า นี่คือ อีกหนึ่งแนวทางธุรกิจที่ไรมอนแลนด์ ต้องเดินหน้าต่อ
“กรณ์” มองรอบด้านไปถึงการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งเขาวางเป้าว่าจะต้องทำให้ได้ภายใน 3-5 ปี นับจากนี้ โดยปัจจุบัน สัดส่วนลูกค้าต่างชาติของไรมอน แลนด์ มีมากถึง 49% โดยกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจ และน่าจับตามากๆ คือ กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา เวียดนาม ลาว กัมพูชา รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งล้วนเป็นฐานลูกค้าที่มีกำลังซื้อ และมีความสนใจลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย
นอกจาก 3 กลยุทธ์หลัก ที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับไรมอน แลนด์แล้ว “กรณ์” บอกว่า อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำตอนนี้คือ การสร้างแบรนด์ “ไรมอน แลนด์” ให้เป็นที่จดจำ เพราะที่ผ่านมา คนจะจำได้แต่ชื่อโครงการ แต่ไม่รู้จักไรมอน แลนด์ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องเดินหน้าเต็มที่ เพราะถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ไรมอน แลนด์ในอนาคต
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,784 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565