นาย เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “ถอดบทเรียน ฝ่าวิกฤต” ในหลักสูตร Wealth of Wisdom ว่า เชื่อว่าทุกคนรับรู้ตรงกันว่า เศรษฐกิจไม่ดี แต่หลายบริษัทกลับมีกำไรดี จุดนี้สะท้อนว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบ K-Shaped recovery (ภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างไม่เท่าเทียมกัน) ผู้ที่แข็งแกร่ง Brandingแข็งแรง ทำกำไรได้มากขึ้น ส่วนคนที่อ่อนแอ ก็ยิ่งอ่อนแอ
สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจผ่านวิกฤตไปได้นั้น คุณเศรษฐาเล่าว่า บริษัทที่อยู่มานาน มีบริการหลังการขายที่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่น และตัดสินใจเลือกเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งสิ่งที่ทำให้แสนสิริ มีวันนี้ได้เพราะ hard work การทำงานอย่างทุ่มเท โฟกัส และ ผมทำงานทุกวัน แบบ 24/7 เพราะฉะนั้น ในธุรกิจ ต้องดูคู่แข่งด้วยว่าทำงานอย่างไร
คนรุ่นใหม่ มักทำอะไรหลายๆอย่าง เช่น ขายรถด้วย ลงทุนอย่างอื่นด้วย เล่นหุ้นด้วย ไม่ได้โฟกัสอย่างเดียว ทำงานแค่ครึ่งเช้า แล้วครึ่งบ่าย ออกไปทำธุระส่วนตัว แล้วไม่ได้มีคนคุณภาพทำงานแทนให้ แบบนั้นหาก ต้องมาแข่งกับคนทำงาน 24/7 ก็ชนะลำบาก แต่หาก บริหารจัดการองค์กรเก่ง จัดสรรเวลาดี มีคนคุณภาพทำงานแทนให้ ก็ไม่จำเป็นต้อง 24/7 ก็ได้
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ได้พูดถึง การทำงานแบบ work life balance ว่า ก็ต้องให้ความเคารพ เพราะแนวคิดการทำงานของคนรุ่นใหม่ เช่น พนักงานของแสนสิริเอง ก็ต้องให้ได้มีวันหยุดวันลา ซึ่งในมุมมองการทำธุรกิจ ก็มีทั้ง ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม เงินที่จำกัด ซึ่งก็ต้องบาลานซ์เช่นกัน
นายเศรษฐา เล่าถึงวิธีรับมือกับปัญหาในวันที่เจอวิกฤตว่า ในวิกฤตปี 40 ได้เดินเข้าไปคุยกับธนาคารเลยว่า กำไรไตรมาสนี้ไม่ดี แต่กระแสเงินสดดีมาก จากการเร่งระบายของ ลดราคา ฉะนั้น เมื่อกระแสเงินสดดี สามารถนำไปซื้อโครงการใหม่ๆ เข้ามาได้ในราคาที่ถูก และสามารถทำกำไรกลับมาได้ในที่สุด
“ต้องเผชิญหน้า อย่าบ่ายเบี่ยงปัญหา อย่าให้ธนาคารได้ยินข่าวร้ายจากหนังสือพิมพ์ เมื่อเจอปัญหา ผมเดินเข้าไปคุยกับธนาคารเลย เค้าคือพาร์ทเนอร์ในธูรกิจ นี่คือการให้เกียรติกัน คือการบริหารความคาดหวังของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ"
วิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นวิกฤตของธนาคาร และสถาบันการเงิน ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่ได้แย่ แต่ได้รับผลกระทบเพราะขาดสภาพคล่อง จากการที่สถาบันการเงินปิดตัวลง ซึ่งต่างจากในปัจจุบัน ที่สถาบันการเงินแข็งแรงมาก มีกำไรสูง
ฉะนั้นเรื่องของแหล่งทุน จึงไม่ใช่ปัญหา โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ หรือธุรกิจอสังหา 7-8 เจ้าแรกๆ ก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน จะมีก็เพียงปัญหาเล็กๆน้อยๆ ที่สามารถบริหารจัดการได้
วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตามที่ผู้ว่าแบงก์ชาติออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจกำลังอยู่ปากเหวนั้น เกิดจากปัจจัยที่หลากหลาย ทั้งปัญหาสงคราม น้ำมัน ปัญหาผู้นำ
ซึ่งยังคงมองว่า บริษัทใหญ่ๆ ที่มีการบริหารจัดการที่ดี จะสามารถผ่านไปได้ ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ รายย่อยที่ว่านี้ หมายถึงบริษัทนอกตลาด บริษัทที่ไม่มีเรทติ้ง ไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ ต้องกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งก็มีดอกเบี้ยสูง และหากธุรกิจนั้น โฟกัสไปที่โครงการ ราคา 1-3 ล้าน ยิ่งประสบปัญหาจากการที่ลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะกู้ไม่ผ่าน ทำให้ขายออกยากขึ้น