‘โมกุล โปษยะพิสิษฐ์’ ดัน ‘สมาร์ท เอสเอ็มอี’ รับมือยุคเศรษฐกิจท้าทาย

25 ก.ค. 2566 | 10:11 น.
อัพเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2566 | 10:11 น.

โมกุล โปษยะพิสิษฐ์” รองกรรมการผู้จัดการ SME D Bank ชี้แนวทางการดำเนินธุรกิจ ก้าวไปสู่ “สมาร์ท เอสเอ็มอี” ในยุคที่เศรษฐกิจยังเผชิญความท้าทายและเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นจากโควิด-19

เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นไข้จากโควิด แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะ เอสเอ็มอี ต้องรู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ “โมกุล โปษยะพิสิษฐ์” รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจ ก้าวไปสู่ “สมาร์ท เอสเอ็มอี” ในยุคที่เศรษฐกิจยังเผชิญความท้าทาย

“โมกุล” กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องรู้เทรนด์ของโลก รวมถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางการเมือง ภาวะโลกร้อน รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่มีผลต่อการกีดกันทางการค้า ตลอดจนภาระดอกเบี้ย เรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียมทางเพศ และสังคมสูงวัย เป็นต้น ส่วนเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการทั้งทางบวกและทางลบ ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของผู้ประกอบการว่าเห็นโอกาสมากน้อยเพียงใด

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

ขณะที่ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 พบว่า มีความเชื่อมั่นมากขึ้น ทั้งในแง่ของการจับจ่ายในช่วงเทศกาล จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และความคาดหวังต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือการบริโภคของภาคเอกชน แต่การบริโภคของเอกชนยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยภาระหนี้สินครัวเรือนสูงขึ้น รวมถึงภาระดอกเบี้ยสูง ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและการชำระหนี้สิน ก็ต้องมีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าว

“ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล ยังต้องอาศัยกลไกการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคของประชาชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจากปัจจัยเหล่านี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโต ประมาณ 3-4% ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามเรื่องการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากในบางธุรกิจยังรอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ ว่าจะมีทิศทางการส่งเสริมและสนับสนุนมากน้อยเพียงใด”นายโมกุลกล่าว 

อย่างไรก็ตาม SME D Bank ได้มีการสำรวจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ พบว่าเอสเอ็มอีจำนวนมากมีเป้าหมายปรับตัวด้วยเทคโนโลยี และให้น้ำหนักกับการพัฒนาธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจากผลสำรวจในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 พบว่า เอสเอ็มอีต้องการหากลุ่มลูกค้าและตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติม 81.2% รองลงมาคือ การให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆและเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น 2 เท่า

นอกจากนี้ เอสเอ็มอียังต้องการการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีจากภาครัฐและเอกชน ในลักษณะ Co Payment คือการสนับสนุนแบบร่วมจ่าย เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในเทคโนโลยี 61.08% อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมีโครงการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บางประเภทก็มีการสนับสนุนงบให้ผู้ประกอบการลงทุนเทคโนโลยี หรือนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ แล้วสนับสนุนเงินทุนให้บางส่วน รวมถึงการพัฒนาทักษะนวัตกรรม และดิจิทัลมากขึ้น เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีในภาพรวม

 “ภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะเป็นสมาร์ท เอสเอ็มอีได้ นอกจากมีกลุ่มธุรกิจ และลูกค้าที่ชัดเจนแล้ว ยังต้องเน้นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้สามารถช่วยสนับสนุนการขาย ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน และช่วยลดต้นทุนได้” โมกุลกล่าว

โมกุล ชี้ให้เห็นอีกว่า การก้าวสู่เส้นทาง สมาร์ท เอสเอ็มอี สิ่งที่เอสเอ็มอีจะต้องมี ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่

  1. Mindset กรอบความคิด ต้องคิดแบบเรียนรู้และเติบโต ดูเป้าหมายว่าต้องการอะไร ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ กล้าล้มเหลว และพัฒนาต่อไป
  2. Skill Set ทักษะ ด้วยการยกระดับทักษะให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง กล้าออกจากกรอบ เรียนให้เร็ว ลุกให้เร็ว เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา อย่าหยุดเรียนรู้ มีความรู้ทางเทคโนโลยี การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
  3. Tool Set เครื่องมือ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น ระบบอีอาร์พี ระบบซีอาร์เอ็ม เพื่อสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าแต่ละกลุ่ม รวมทั้งด้านการตลาด ด้วยการใช้โซเชียล ทำให้รู้ได้ว่าแบรนด์มีคนสนใจมากน้อยเพียงไหน เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกลุ่ม ไปจนถึงระบบเกี่ยวกับการเงิน ด้านภาษี 

ทั้งนี้ การที่ธุรกิจจะรู้จุดอ่อน จุดแข็ง ได้อย่างไรเพื่อเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสม จำเป็นต้องมีการประเมินองค์กรก่อน โดย SME D Bank มีเครื่องมือ Business Health Check เป็นแบบฟอร์มในการประเมินธุรกิจของตนเองก่อนเลือกเครื่องมือที่เหมาะสม เพราะเทคโนโลยีมีสองด้าน ต้องเลือกให้เหมาะสมกับการลงทุน และถูกต้อง ข้อมูลต้องไม่รั่วไหล และปลอดภัยจากภัยไซเบอร์

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดของเอสเอ็มอี คือ วินัยทางการเงิน เพราะสิ่งที่สำคัญของธุรกิจคือสภาพคล่อง ต้องมีการบริหารจัดการโครงสร้างการเงินให้เหมาะสมและมีวินัยทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีด้วย รวมทั้งเมื่อต้องการที่จะเติบโตต่อไปก็สามารถต่อยอดธุรกิจสู่ตลาดทุนได้ ซึ่งเป็นโอกาสให้กับการขยายธุรกิจ หากมีการบริหารจัดการเรื่องการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ 

ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอีสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ ด้วยแนวคิด ESG ด้วยหลักการ ABC คือ A-Act เริ่มทันที โดยเริ่มง่ายๆ กับพนักงานของตนเองก่อน B - Benefit ด้วยการหาทางสร้างสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้า คู่ค้า และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และ C- Contribute Solution ขยายผลด้วยการลงมือทำอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีส่งมอบสู่คนรุ่นต่อไป 

“ESG เป็นสิ่งที่ทั่วโลกรณรงค์ให้เกิด บางกรณีอาจจะนำมาเป็นข้อกีดกันการค้าทางอ้อม เช่น กรณีที่จะมีการส่งออก แต่ไม่มีผลิตภัณฑ์ บริการ หรือองค์กรไม่ตอบสนองต่อ ESG ก็จะถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันการค้าทางอ้อม อย่างการส่งออกไปยุโรป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากมองอีกมุม ก็ยังถือเป็นโอกาส หากทำให้เป็นระบบมากขึ้น และสร้างความแตกต่างได้ ก็ทำให้องค์กรไปต่ออย่างยั่งยืน” 

ทั้งนี้ ปัจจัยความไม่แน่นอน ทุกองค์กรต่างเผชิญ อยู่ที่ว่าเอสเอ็มอีมองเป็นวิกฤตหรือโอกาส ถ้ามองวิกฤตให้เป็นโอกาส อย่างน้อยต้องปรับปรุงรูปแบบธุรกิจของตัวเอง ให้สามารถสร้างรายได้ และสร้างยอดขายให้กับธุรกิจ นายโมกุลกล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,908 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2566