“ฐานเศรษฐกิจ” เล็งเห็นวิสัยทัศน์และผลงานที่โดดเด่นในการขับเคลื่อนองค์กร จากธุรกิจเล็กๆ กลายมาเป็นอาณาจักรระดับแสนล้านบาท ดูแลบริษัทในเครือมากกว่า 70 บริษัท ครอบคลุมทั้งด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม และพลังงาน ก่อนจะทรานฟอร์มธุรกิจสู่ Tech Company
"ฐานเศรษฐกิจ" จึงมีมติให้ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ WHA เป็น “สุดยอดผู้บริหารแห่งปี 2567 หรือ The Best CEO 2024”
ย้อนกลับไปเมื่อ 21 ปีก่อน ช่วงเวลาที่ธุรกิจโลจิสติกส์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย “จรีพร” มองเห็นโอกาสที่คนอื่นมองข้าม โดยสังเกตเห็นว่า ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์มีน้อยราย ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูง และมาตรฐานการพัฒนาคลังสินค้ายังห่างไกลจากระดับสากล นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตัดสินใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้
การส่งมอบอาคารคลังสินค้าแห่งแรกขนาด 53,000 ตารางเมตรให้กับลูกค้าคอนซูเมอร์โปรดักส์คือ ก้าวสำคัญที่ทำให้ WHA เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเพียง 6 เดือนต่อมา การส่งมอบอาคารเฮลธ์แคร์ขนาดใกล้เคียงกัน ยิ่งตอกย้ำ ความสำเร็จในการเริ่มต้นธุรกิจของเธอ
“ตอนนั้นลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ” จรีพรเล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ “พวกเขาชวนไปทำธุรกิจในต่างประเทศ ทำให้เติบโตขึ้นเป็นเป็นโกลบอล คอนแทรค เมื่อได้ไปเห็นโอกาสในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ทำให้มองเห็นว่า สิ่งที่เราทำอยู่สามารถพัฒนาต่อยอดได้อีก" นั่นคือที่มาของการตัดสินใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม”จรีพรกล่าว
จุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เมื่อเธอตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2558 ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยเงินจำนวน 43,000 ล้านบาท
ซึ่งในเวลานั้น หลายคนมองว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปซื้อกิจการที่ใหญ่ขนาดนั้น แต่ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้หญิงคนนี้ทำได้ และจนถึงทุกวันนี้ ยังสามารถต่อยอดธุรกิจ และสร้างการเติบโตควบคู่กับความยั่งยืนได้อีกด้วย
ปัจจุบัน WHA Group มีนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 13 แห่ง บนพื้นที่รวมกว่า 78,000 ไร่ โดย 12 แห่ง ตั้งอยู่ในประเทศไทย และอีก 1 แห่งในเวียดนาม พร้อมแผนขยายการลงทุนเพิ่มอีก 4 แห่งในไทย
คาดว่า จะได้เห็นในปี 2568 อย่างน้อย 1 แห่ง ขณะที่ในเวียดนามมีแผนลงทุนเพิ่มอีก 3 แห่ง แบ่งเป็นในปี 2568 จำนวน 1 แห่ง และปี2569 อีก 2 แห่ง นอกจากนี้ยังมองการขยายการลงทุนไปยังประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติมอีกด้วย
แม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ธุรกิจหลายแห่งต้องประสบปัญหา แต่“จรีพร” กลับมองเห็นโอกาส สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เธอมั่นใจ
“สิ้นปี 2567 นี้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ยังคงทำ All time high ได้อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ลูกค้าต่างชาติยังมีเข้ามาเจรจาอยู่เรื่อยๆ ต้องยอมรับว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่เกิดขึ้น กลับส่งอานิสงส์เชิงบวก"
นอกจากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม WHA ยังขยายไปสู่การจัดการน้ำและพลังงาน (WHAUP) ปัจจุบันมีการจัดการน้ำกว่า 170 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พร้อมทั้งพัฒนาระบบรีไซเคิลน้ำที่ช่วยลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและลดต้นทุน โดยมีกำลังการผลิตพลังงานทั้งหมด 957 เมกะวัตต์
แบ่งเป็นพลังงานดั่งเดิม 528 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียน 429 เมกะวัตต์ แน่นอนว่าด้วยการขยายตัวของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ความต้องการใช้น้ำและพลังงานก็จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเป็นอีกความท้าทายที่จรีพรรับมือได้อย่างชาญฉลาด WHA เริ่มปรับตัวสู่การเป็น Tech Company ตั้งแต่ปี 2560 โดยเริ่มจากการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร พัฒนาบุคลากร และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตัวเองได้
“WHA ได้มีการนำ Technology ใหม่ๆ มาปรับใช้กับอีก 3 กลุ่มธุรกิจของ WHA ไม่ว่าจะเป็นโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภคและพลังงาน ซึ่งทำให้ดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น จุดแข็งของ WHA อีกหนึ่งอย่าง คือการที่มีทีมดิจิทัลที่แข็งแกร่งเป็นของตัวเอง ทำให้ปรับเปลี่ยนได้ไวมากขึ้น ในขณะที่ใช้ต้นทุนน้อยลง”
เมื่อกติกาของโลกเปลี่ยนไป ภายใต้เงื่อนไขการควบคุมความร้อนของอุณหภูมิโลก “จรีพร” วางเป้าหมาย ผลักดันให้ WHA Group เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนอย่างชัดเจน ด้วยการมุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างระบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงทรัพยากรในระยะยาว โดยวางเป้าหมายสู่ Net Zero ภายในปี 2029 บริษัทตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 ให้ได้ 37% ภายในปี 2029 และ 42% ในปี 2030
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกกลุ่มธุรกิจ เช่น ลดการใช้น้ำจากธรรมชาติ โดยหนึ่งในโครงการที่โดดเด่นคือการพัฒนาระบบรีไซเคิลน้ำที่ช่วยลดการใช้น้ำจากธรรมชาติได้ถึง 25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประหยัดต้นทุนได้กว่า 290 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการ Zero Waste to Landfill เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลและจัดการขยะในนิคมอุตสาหกรรม
อีกก้าวสำคัญ คือการผลักดันโครงการ EV Logistics โดยบริษัทตั้งเป้าให้มียานพาหนะไฟฟ้าในระบบโลจิสติกส์ถึง 20,000 คันในปี 2029 ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 280,000 ตันต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 32 ล้านต้น
“มองว่าการเอา EV มาใช้ในการขนส่งต่อไปจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติที่ค่อนข้างให้ความสำคัญต่อปัญหาโลกร้อน ซึ่งระบบโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) เป็นการผสมผสานระหว่างการดูแลสิ่งแวดล้อมกับธุรกิจ Logistics เข้าด้วยกัน ลดผลกระทบที่เป็นมลพิษจากการดำเนินกิจกรรมด้าน Logistics ไม่ให้ส่งผลอันตรายต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม”
มองไปข้างหน้า “จรีพร” เชื่อว่า เศรษฐกิจในปี 2568 ยังคงฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าในบางอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่อาจมีความเข้มข้นมากขึ้น รวมถึงการขึ้นภาษานำเข้าของสหรัฐฯ อาจขยายตัวในวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆ ในมุมกลับกันนี่กลับเป็นโอกาสให้กับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรม เชื่อว่าการย้ายฐานผลิตเข้ามาอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐมีการเดินสายให้ข้อมูลนักลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนยังประเทศไทย ที่ผ่านมาภาครัฐฯ ทำได้ค่อนข้างดี เชื่อว่าในปีนี้ก็จะเห็นการออกผลผลิตที่มากขึ้น
“ไม่ว่าจะเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ หรือเรื่องสงครามการค้า มองว่าปี 2568 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่ ซึ่งไทยและเวียดนามถือว่าเป็น Positive จากการที่เกิดการเคลื่อนย้ายฐานจากจีนออกมา ซึ่งยังคงเห็นภาพตรงนี้ค่อนข้างมาก.
ดังนั้นจึงเชื่อว่า คงจะเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปอีกหลายปี แล้วจะเกิดการสร้าง New Economy ใหม่ขึ้นมา เรื่องเทคโนโลยี Data Center ก็เป็นเทรนด์ใหม่ ด้านประธานาธิบดีทรัมป์มารอบสอง แน่นอนว่าสงครามการค้าจะดุเดือด แต่ว่าก็ยังเป็นโอกาสดีของไทย ทุกวิฤกตมีโอกาส ไทยโชคดี โดน Positive Impact จาก Geopolitics ก็มองภาพว่าจะดีต่อประเทศไทย
เส้นทางความสำเร็จของ“จรีพร จารุกรสกุล” ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารธุรกิจ แต่ยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการผสมผสานการเติบโตทางธุรกิจเข้ากับความยั่งยืน การปรับตัวสู่เทคโนโลยีดิจิทัล และการมองเห็นโอกาสในทุกวิกฤต ทำให้เธอกลายเป็นแบบอย่างของผู้นำธุรกิจยุคใหม่ที่สามารถสร้างความสำเร็จควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,056 วันที่ 26 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2567