thansettakij
“อาชวิณ อัศวโภคิน” เจน 3 อาณาจักรแลนด์แอนด์เฮ้าส์ กับหลักคิด “เข้าใจลูกค้า”

“อาชวิณ อัศวโภคิน” เจน 3 อาณาจักรแลนด์แอนด์เฮ้าส์ กับหลักคิด “เข้าใจลูกค้า”

11 ก.พ. 2568 | 22:11 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2568 | 09:38 น.

คอลัมน์ ซีอโอ โฟกัส “อาชวิณ อัศวโภคิน” ทายาทรุ่นที่ 3 อาณาจักรแลนด์แอนด์เฮ้าส์แสนล้าน กับหลักคิด “เข้าใจลูกค้า -ทำการบ้านให้มาก” คำสอนพ่อ "อนันต์ อัศวโภคิน" ต้องชื่อสัตย์

 

การแถลงแผนธุรกิจ และผลประกอบการประจำปีของ “พี่เบิ้ม” บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์จำกัด (มหาชน) หรือ LH ยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของเมืองไทย ที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้ง นำโดย “นพร สุนทรจิตต์เจริญ” ซีอีโอใหญ่ ขุนพลคนสำคัญ แต่ครั้งนี้ มีความพิเศษน่าจับตามองมากกว่าครั้งก่อนๆ

เต้ย- อาชวิณ อัศวโภคิน เต้ย- อาชวิณ อัศวโภคิน

เมื่อปรากฏภาพของ “เต้ย- อาชวิณ อัศวโภคิน” คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ในวัย 49 ปี บุตรชายคนโตของ “เจ้าสัวอนันต์ อัศวโภคิน” เจ้าของอาณาจักร “แลนด์แอนด์เฮ้าส์” นั่งโต๊ะแถลงแผนธุรกิจเมื่อวันที่22 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ภายใต้เก้าอี้ตัวสำคัญ รองกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารสูงสุดทางด้านการเงิน นับเป็นครั้งแรกของการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในฐานะผู้บริหาร ของ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ อย่างเป็นทางการ

“คอลัมน์ซีอีโอโฟกัส” ไม่พลาดที่จะเกาะติดชีวิตและหลักคิดในการทำงานว่าจะ สร้างธุรกิจให้เติบโตแข็งแกร่งยั่งยืนอย่างไร ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ในฐานะ CFO และอีกหลายบทบาท โดยเฉพาะผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า หนึ่งในเรือธงของแลนด์แอนด์เฮ้าส์  ที่เต้ยระบุว่ามีเกมรุกขยายพอร์ตธุรกิจต่อเนื่อง รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

ขณะเดียวกันได้ปรับลดการลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยลง และระบายสินค้าที่มีเมื่อสถานการณ์กำลังซื้อยังไม่เอื้ออำนวยรวมทั้งไม่พลาดที่จะมองหาเทรนด์ใหม่ๆต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งสอดรับกับ โมเดลธุรกิจของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่เจ้าสัวอนันต์ ผู้เป็นบิดาได้วางไว้ โดยเน้นย้ำกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งเต้ยมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แลนด์แอนด์เฮ้าส์เป็นองค์กรใหญ่เป็นบริษัทรายแรกๆ และเพียงไม่กี่รายที่ เน้นกระจายการลงทุนในหลากหลายรูปแบบซึ่งบริษัทดำเนินการในลักษณะนี้มานานแล้ว และวันนี้มองว่าได้เดินมาถูกทาง

อาชวิณ อัศวโภคิน อาชวิณ อัศวโภคิน

 เมื่อถามถึงหลักคิดในการทำงาน เต้ย ระบุว่า “เข้าใจลูกค้า ทำการบ้าน ให้เยอะๆ องค์กรใหญ่ผู้บริหารอาจห่างจากตลาดในบางครั้ง โดยสิ่งสำคัญ เราต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกค้าเยอะๆ ในความคิดส่วนตัว”

 นอกจากนี้สินค้าที่ผลิตออกมาต้องคุณภาพระดับลักชัวรี แต่ราคาจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ศูนย์การค้า บ้าน อีกทั้งการใส่ใจลูกค้าแม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ไม่ปล่อยผ่าน อีกหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ โดยมีวิธีคิด เมื่อบริหารมีกำไรแล้ว อย่างโรงแรมจะขายเข้ากองทรัสต์ นำเงินที่ได้ขยับขยายลงทุนใหม่ ซึ่งเป็นทางลัดทำธุรกิจให้เติบโต ขยายตัวเร็วขึ้น ทันเกมการแข่งขัน 

สะท้อนจากการลงทุนปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่พัฒนาและอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัททั้งหมด 18แห่งประกอบด้วยโรงแรม Grande Center Point ที่เปิดดำเนินการ 7 แห่ง (ขายเข้ากองทรัสต์ 6 แห่ง)และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง ศูนย์การค้า Terminal21 จำนวน 3 แห่ง (ขายเข้ากองทรัสต์ 2 แห่ง)รวมถึงอพาร์ตเมนต์ และโรงแรมในสหรัฐฯอีก 5 แห่ง ฯลฯ วิธีคิดนี้จะทำให้ขยายการลงทุนธุรกิจโรงแรมทำได้ง่ายขยายได้เร็วทันความต้องการตลาด

“การลงทุนโรงแรมใหม่ ต้องเก็บเงินเพื่อมาสร้างที่ใหม่ ต้องใช้เวลาเก็บเงินประมาณ 7 ปีถ้าวิธีนี้เราสร้างโรงแรมและดูแลให้โตแล้วขายเอาเงินมาสร้างใหม่ ทำให้เราขยายพอร์ตได้มากและเร็วขึ้น”

 

ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจโรงแรม 

อย่างไรก็ตามการเข้ามาบริหารธุรกิจเต็มตัวเมื่อปลายปี 2566 เต้ย อธิบายว่าแม้ดูเหมือนไม่นาน แต่ ไม่ได้หมายความว่าจะนับหนึ่งจากบันไดขั้นแรก เพราะที่ผ่านมาได้คลุกคลีธุรกิจของบริษัทฯ มาโดยตลอด 10 ปี ในตำแหน่งกรรมการ 3 บริษัท ได้แก่ แลนด์แอนด์เฮ้าส์, โฮมโปร และควอลิตี้เฮ้าส์ ทำให้ซึมซับ และได้เรียนรู้ จากผู้บริหารหลายท่าน รวมถึงพนักงานโดยมองว่าหัวใจของการทำงาน ทีมเวิร์คเป็นสิ่งสำคัญ หัวหน้าต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้องจึงนำมาซึ่งความสำเร็จ ความเข้าใจ ความใส่ใจ ในทุกมุมขององค์กร

โครงการหรู โครงการหรู

  นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นที่จะพัฒนาบุคลากรต่อเนื่อง รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาสนับสนุนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็ว แม้ขณะนี้แลนด์แอนด์เฮ้าส์มีฐานะการเงินที่มั่นคงจากการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ดีแต่ ไม่ประมาท ต้องระมัดระวังและเร่งระบายสินค้าให้เบาบางลง สำหรับเหตุผลที่มาดูแลทางด้านการเงินของบริษัทฯ เพราะความชำนาญ สามารถดีลกับสถาบันการเงินต่างๆได้

พร้อมย้อนภาพในอดีตว่า มีประสบการณ์ด้านการเงินกว่า 20 ปี นับตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา จากนั้นเริ่มทำงานเมื่อปี 2542 กับโกลด์แมน แซคส์ นิวยอร์ก วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมายังประเทศไทย ทำงานกับธนาคารพาณิชย์ เป็นเทรดเดอร์ ดูแลกลุ่มผลิตและตราสารหนี้ต่างประเทศ

 เมื่อมาทำงานของบริษัทฯ ได้นำประสบการณ์ด้านไฟแนนซ์ มาพัฒนาโดยมองว่า การทำงานธนาคาร จะต่างกับการบริหารการเงินของบริษัทฯที่ซับซ้อนกว่า โดยนำความรู้ที่สั่งสมมาปรับใช้กับการบริหารจัดการทางการเงินคอยซัพพอร์ตหลังบ้านของ บริษัทฯให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคุมต้นทุนทางการเงินให้ไม่สูงเกินไปในยุคเศรษฐกิจเต็มไปปัจจัยเสี่ยง 

ในฐานะ ทายาทรุ่นที่ 3 ของ “ตระกูลอัศวโภคิน”  มองว่าจะต้องทำหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด โดยเจนแรก คือคุณย่า (เพียงใจ หาญพาณิชย์)  ท่านมีความชำนาญในแวดวง ธุรกิจอสังหาฯ ทำบ้านจัดสรรอยู่ก่อนและร่วมก่อตั้งแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เจน 2 รุ่นคุณพ่อ ที่คุณย่าจะให้คำแนะนำวางแผนให้ เมื่อมาถึงเจน 3  คุณพ่อสอน “ทำธุรกิจต้อง ซื่อสัตย์ ใส่ใจลูกค้า ขายบ้านต้องคุณภาพ”

วันนี้ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีทีมบริหารที่มีประสบการณ์จำนวนมากนับเป็นเฟืองจักรสำคัญ โดยคุณพ่อได้วางรากฐานที่ดีไว้ หากย้อนประโยคคำพูด เจ้าสัวอนันต์ เคยกล่าวถึงทายาททั้ง 3 ไว้ว่า ไม่ต้องการให้ลูกๆมาทำงานรวมกันในที่เดียว หรือทำธุรกิจของบริษัท เพราะนั่นหมายถึงความเสี่ยงแต่ต้องการให้แต่ละคนแยกย้ายไปเติบโตในสิ่งที่ถนัด เปรียบเสมือน “ต้นไม้ไม่ควรปลูกรวมในกระถางเดียว” แต่ต้องให้เขาทำในสิ่งที่รักสร้างความแข็งแกร่งในตัวเองและนำประสบการณ์ที่ได้ มาเติมเต็มต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต ซึ่งวันนี้ได้เห็นการผลิดอกออกผลที่งดงามแล้ว

เต้ยได้ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายสูงสุดของทุกคุณไม่เหมือนกัน เขาเองก็เช่นกัน แต่จะเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กร เข้าถึงหัวใจลูกค้าไปจนกว่า บริษัทจะให้เกษียณ และนี่คือ “แม่ทัพ” ที่เจ้าสัวอนันต์วางหมากให้เดินในเวลานี้ !!!