“นลิน วนาสิน” ทายาทคนเก่งแห่งเครือโรงพยาบาลธนบุรี บุตรสาวคนเล็กของคุณจารุวรรณและนพ.บุญ วนาสิน เส้นทางการสานต่อธุรกิจของครอบครัว เริ่มต้นจากความสนใจในด้าน Health and Wellness และได้เริ่มต้นศึกษาอย่างจริงจัง ผสมผสานกับแนวคิดของคุณพ่อ ที่เน้นการรักษาพยาบาลในราคาที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้
“นลิน”จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์เชิงคณิตศาสตร์ จาก Columbia University และระดับปริญญาโท สาขา Engineering-Economic Systems and Operations Research ที่มหาวิทยาลัย Stanford จากนั้นเลือกที่จะทำงานวิเคราะห์หลักทรัพย์อยู่ราว 2 ปีที่สหรัฐฯ ก่อนจะกลับมาไทย ทำงานด้านการตลาด และไปศึกษาต่อ ปริญญาโทอีก 1 ใบ สาขา Business Administration, INSEAD
“Health Care เป็น Human Rights ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ โดยเฉพาะเวลาที่ป่วย เราจึงใช้แนวคิดนี้ เป็นหลักในการบริหารโรงพยาบาลในเครือ THG มาโดยตลอด” นลิน วนาสิน กรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) จำกัด มหาชน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “หมอบุญ” ผู้เป็นพ่อ และที่ปรึกษาประธานกรรมการ THG มีอิทธิพลต่อการบริหารงานของ “นลิน” พอสมควร ซึ่งได้เน้นย้ำให้การออกสินค้าใหม่ ๆ ในเครือ THG ต้องเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการพัฒนาการบริการ
“นลิน”ระบุว่า บุคลากร คือตัวแปรสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องเฟ้นหาบุคลากรที่มีความรู้ และมีปริมาณมากพอ ดูแลผู้ป่วยได้ในระดับที่มีคุณภาพ ดังนั้น โรงพยาบาลจึงต้องพัฒนาความยั่งยืนของการรักษาพยาบาลควบคู่ไปกับการพัฒนาการดูและบุคลากรด้วย โดยเฉพาะบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีฝีมือที่มีความต้องการและความสนใจในชีวิตที่แตกต่างกัน
การเฟ้นหาบุคลากรทางการแพทย์ เป็นความท้าทาย THG จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยสนามก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ และ คณะพยาบาลศาสตร์ขึ้นมาเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ มานานกว่า 10 ปีแล้วและกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 1 แห่ง ร่วมกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยหวังว่าจะสร้างบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มให้กับประเทศ
นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้ามาทำงานร่วมกับ THG ยังได้จัดเตรียมหลักสูตรพิเศษ เพื่อพัฒนาทักษะและฝีมือ เช่น หลักสูตร ‘หลงจู๊’ ที่เริ่มทำมาแล้วกว่า 2-3 ปี ซึ่งจะเปิดให้แต่ละแผนกได้เข้ามาเรียนรู้ทักษะทางด้านการบริหารและธุรกิจที่เสริมเพิ่มเติมจากทักษะเฉพาะทาง
“ในอดีตพยาบาล เหมือนโดนจับใส่กล่อง ให้ทำงานตามหน้าที่ไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ส่งเสริมการพัฒนาทักษะอื่น ๆ แต่พอมีหลักสูตรต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้ค้นพบศักยภาพของบุคลากรที่มากกว่าเดิม พัฒนาทั้งคนและนำมาพัฒนาธุรกิจได้ด้วย”
การทำธุรกิจโรงพยาบาลในยุคที่แข่งขันเข้มข้น THG ต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีทางแพทย์ใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้รักษาพยาบาลมากขึ้น ผ่านการนำร่องโดยโรงพยาบาลธนบุรี เช่น การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da VInci Xi ซึ่งเป็นแขนกลเคลื่อนไหวได้อิสระรอบด้าน โค้งงอ หมุนได้ 7 ทิศทาง
เหมือนกับคุณหมอมีแขนพิเศษเพิ่มที่ช่วยให้สามารถมองเห็นภาพอวัยวะภายในรูเล็กๆ เช่น ต่อมลูกหมากที่ซ่อนอยู่ใต้กระดูกเชิงกราน ได้อย่างชัดเจนแบบภาพ 3 มิติ ลงรายละเอียดได้มากกว่ามองด้วยตาเปล่าถึง 10 เท่า
ขณะเดียวกัน ยังมีการใช้หุ่นยนต์ช่วยเดิน (Exoskeleton) สวมใส่ช่วยทดแทนกำลังกล้ามเนื้อที่หายไป สำหรับผู้ป่วยอัมพาตช่วงล่าง ผู้ป่วยอ่อนแรง และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดิน กลับมาลุกขึ้นยืนและเดินได้ตามปกติ
นอกจากนี้ THG ยังมีการนำบริการการรักษาออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การเปิดบริษัท ธนบุรี เสริมรัฐ ประกอบกิจการธุรกิจบริหารศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง บริหารบุคลากรทางการแพทย์ และบริหารสถานพยาบาล
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของโรงพยาบาลรัฐ การเข้าไม่ถึงการรักษาของประชาชนในพื้นที่แออัด รวมถึงพื้นที่ชุมชนห่างไกล ซึ่งขาดแคลนบุคลากร งบประมาณและการบริการที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม THG ยังมองถึงโอกาสในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ หลังได้ร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์เมียนมาร์ ก่อตั้งโรงพยาบาล Ar Yu International จนได้รับการยอมรับจากลูกค้าว่าเป็น รพ.ระดับท็อป
ส่วน เวียดนาม มีการลงทุนศูนย์บริการตรวจสุขภาพเชิงลึก BeWell Wellness Clinic ในโฮจิมินห์ และยังมีแผนศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายเพิ่มในอีก 2 เมือง ได้แก่ ดานัง และ โฮทรัม
3 Key Success
"การผนึกกำลัง นำจุดแข็งของแต่ละโรงพยาบาลและระดับบริหารของทีม นำมาส่งเสริมซึ่งกันและกัน นำไปสู่การร่วมมือและพัฒนานวัตกรรม"
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,000 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2567