บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหาร กว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง รายใหญ่ของประเทศ ภายใต้แบรนด์ “ปุ้มปุ้ย” “SMILING FISH” ผลิตภัณอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง พร้อมทาน อาทิ ปลาในซอสมะเขือเทศ, ปลาปรุงรส, อาหารพร้อมทาน, สแน็คหอยลายอบกรอบฯลฯ “ปุ้มปุ้ย อร่อยที่รอยยิ้ม”
POMPUI เริ่มซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2538 ก่อนจะถูกเพิกถอนหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากงบการเงินของบริษัทปรากฏส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ และผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำปี 2547-2549
แม้ว่า บริษัทจะดำเนินการให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมามีค่ามากกว่าศูนย์ และผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นต่องบการเงินได้ แต่บริษัทไม่สามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขายได้ตามภายในระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด
แม้หุ้น POMPUI จะถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจเป็นฝันร้ายของนักลงทุน แต่ไม่ได้กระทบต่อผู้บริโภคทั่วไป เพราะ POMPUI ยังคงเดินหน้าเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคอย่าวต่อเนื่อง
ช่วงปี 2564 เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะได้สูญเสียกำลังหลักด้านการบริหาร อย่างคุณไกรเสริม โตทับเที่ยง ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลไป อย่างไม่มีวันหวนคืน
เหตุนี้ทำให้คุณแอร์ ปวิตา โตทับเที่ยง ผู้เป็นภรรยาของคุณไกรเสริม เข้ามารับหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน)
"คุณแอร์ คือผู้ที่กุมบังเหียนในการออกแคมเปญต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดการสื่อสารของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของปุ้มปุ้ยที่ออกสู่ตลาด"
ด้วยความที่ปุ้มปุ้ยกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 46 ซึ่งวิธีการสื่อสารในช่วงแรก ๆ เป็นการใช้เสียงตามสาย หรือ วิทยุ และ โทรทัศน์ในการสื่อสารสร้างแบรนด์ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติม เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มากขึ้น รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่าย ต้องขยายสู่ E-Commerce
“สมัยก่อนมันค่อนข้างง่าย เพราะมีสื่อเพียงไม่กี่ช่อง แต่ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป สื่อสารยากขึ้น ต้องรู้ความชอบของแต่ละบุคคล ต้องกำหนด KOL หรือ อินฟลูเอนเซอร์ให้ถูกจุด ปรับสี ภาพลักษณ์ ไปจนถึงสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ”
สิ่งแรกที่ทำหลังจากเข้ามารับตำแหน่ง คือต้องศึกษาหน้าที่ของงานที่ทำ จากนั้นสร้างทีม ค้นหาทีมงานที่มีความสามารถ และเหมาะสมกับงาน ทั้งนี้ ความยากในการทำงานคือ ในองค์กรของ ‘ปุ้มปุ้ย’ มีพนักงานหลากหลาย บางคนทำงานมาเป็นเวลานาน มีความเชี่ยวชาญในการทำงานอย่างมืออาชีพ ในขณะที่ทีมงานรุ่นใหม่ ก็จะมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในส่วนนี้ต้องบาลานซ์การทำงานให้ไหลลื่นให้ได้
‘การสื่อสาร’ คือ Key Point ของการทำงาน ว่าแต่ละแผนกมีความต้องการ และมีแผนงานอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทจะทำการ Intermal Launch สินค้าใหม่ ๆ ภายใน ด้วยการจัดกิจกรรมแบบสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของแต่ละทีมงาน รู้รายละเอียดของสินค้าก่อนออกมาขายจริง นอกจากจะได้ความคิดเห็นของทีมแล้ว ยังได้สร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
เทคนิคของการทำงานคือให้มองงานเป็นความสนุก และท้าทายเริ่มแรก วิธีคิดพื้นฐานคือการมี Growth Mindset โดยต้องเริ่มที่ตัวผู้บริหาร เพราะเชื่อว่าทุกคนอยากไปอยู่ในจุดที่ดีขึ้นเสมอ มีการจัดกิจกรรม แคมเปญ ‘Open The CAN Open Your Mind’ ซึ่งคำว่า CAN นอกจากแปลว่ากระป๋องแล้ว ยังแปลว่า ‘สามารถ’ อีกด้วย
ขณะเดียวกันยังมีการเชิญวิทยากรจากภายนอกเข้ามาให้ความรู้ เช่น ‘แบบทดสอบบุคลิกภาพผ่านพฤติกรรมของมนุษย์ ผ่าน 4 ตัวอักษร DISC’ ทำให้รู้ว่าแต่ละคนมี Type ที่แตกต่างกัน จนต่อยอดไปสู่การนำไปใช้ในการสัมภาษณ์พนักงานใหม่ เพื่อให้รู้จักตัวตนที่แท้จริง และวิธีการทำงาน ว่าเหมาะสมกับองค์กร หรือ ตำแหน่งที่สมัครเข้ามาหรือไม่
“หลาย ๆ คนบอกว่าต้อง Digital Transformation แต่สุดท้ายความพร้อมทั้งหมด ขึ้นอยู่กับบุคลากร ต้องมี Mindset ที่ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ Growth Mindset ก็จะทำให้องค์กรดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง"
3 Key Success
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,002 วันที่ 20 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2567