climatecenter

ต้นไม้กว่า 600 ล้านต้นถูกโค่นลงทุกปีเพราะ 'บุหรี่' ภัยต่อชีวิต-สิ่งแวดล้อม

    31 พฤษภาคมของทุกปี "วันงดสูบบุหรี่โลก" ภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ต้นไม้กว่า 600 ล้านต้นถูกตัดโค่นลงทุกปีเพื่อ ‘บุหรี่’ ขยะทำลายยาก

วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็น "วันงดสูบบุหรี่โลก" ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การผลิตและการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงในหลายด้าน

 

ขยะจาก "บุหรี่" ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุด มีรายงานระบุว่าทั่วโลกมีการทิ้งกากบุหรี่รวม 4.5 ล้านล้านมวนในแต่ละปี โดยประมาณร้อยละ 63 ของกากบุหรี่ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง นอกจากนี้ เศษกากบุหรี่ก็เป็นขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากมาก

สำหรับประเทศไทย สถิติจากกรมควบคุมมลพิษพบว่า มี "ขยะบุหรี่" กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมรวมกว่า 138 ล้านมวนต่อปี โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นแหล่งก่อกำเนิดขยะบุหรี่มากที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่ามีขยะบุหรี่ตกค้างในทะเลไทยมากกว่า 35.6 ล้านซอง หรือประมาณ 1.8 พันล้านมวนต่อปี และในแต่ละปีบุหรี่คร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปกว่า 8 ล้านคน และคร่าชีวิตคนไทยไปกว่า 81,000 คน 

 

ต้นไม้กว่า 600 ล้านต้นถูกตัดโค่นลงทุกปี เพื่อการเพาะปลูก การบ่ม และผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่ จากสถิติพบว่าประเทศไทยผลิตบุหรี่ 3.6 หมื่นล้านมวนต่อปี ซึ่งจะยิ่งเพิ่มการทำลายป่า และมีส่วนทำให้ปริมาณป่าไม้ในประเทศไทยลดลงจาก ร้อยละ 53.5 จากสถิติปี 2504 

 

ควันบุหรี่มือสอง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในบรรยากาศ มีการศึกษาระบุว่า การสูบบุหรี่มือสองส่งผลให้เกิดละอองขนาดเล็กในอากาศเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า เมื่อเทียบกับที่ไม่มีการสูบ โดยละอองเหล่านี้ประกอบด้วยสารพิษมากกว่า 4,000 ชนิด รวมถึงก๊าซพิษอย่างคาร์บอนมอนอกไซด์และไอระเหย

 

นอกจากนี้ การเผาไหม้ของยาสูบยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน ซึ่งมีส่วนทำให้ปัญหาภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีรายงานระบุว่าภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมยาสูบทั่วโลกมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกว่า 84 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

 

ก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ที่เกิดจาการสูบบุหรี่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน การสูบบุหรี่จำนวน 3 มวนก่อให้เกิดปริมาณ PM 2.5 สูงถึง 10 เท่าของปริมาณ PM2.5 จากรถเครื่องยนต์ดีเซลที่จอดติดเครื่องเป็นเวลา 30 นาที

 

หลายประเทศพยายามออกมาตรการเพื่อควบคุมและลดปัญหาจากการสูบบุหรี่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ออสเตรเลียมีกฎหมายห้ามทิ้งขยะบุหรี่ในที่สาธารณะ โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 6,600 ดอลลาร์ ขณะที่สิงคโปร์ก็มีบทลงโทษผู้ทิ้งขยะบุหรี่ในที่สาธารณะด้วยค่าปรับสูงถึง 2,000 ดอลลาร์

 

การสูบบุหรี่ไม่ได้ส่งผลเสียกับแค่คนสูบและคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเท่านั้น แต่ยังมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง ทั้งประเด็นขยะ มลภาวะทางอากาศ และการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก จึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์และออกมาตรการเพื่อจำกัดการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อช่วยลดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน