วันที่ 11 ธ.ค. 2567 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO และเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ร่วมจัด “การประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN Council Board) ประจำปี 2567” ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว โดยได้รับเกียรติจาก ประธานเครือข่าย TCNN และประธาน Council Board ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วย ที่ปรึกษาเครือข่าย ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการ TGO และ รักษาการผู้อำนวยการ TGO ฝ่ายเลขานุการโดย นางสาวอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและทะเบียน คาร์บอนเครดิต TGO รวมทั้งคณะ Council Board คณะกรรมการเครือข่าย และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และชมรม Carbon Market Club เข้าร่วมการประชุม
การประชุม Council Board ในครั้งนี้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานเครือข่าย TCNN ในปี 2567 โดย ปัจจุบันมีองค์กรสมาชิกเครือข่ายฯ จำนวน 699 องค์กร ซึ่งมาจากภาคเอกชน ภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่าง ประเทศ มูลนิธิและองค์กรไม่แสวงหากำไร รวมทั้งมีองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization: CALO) ซึ่งเป็นองค์กรที่แสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emissions ในระดับองค์กรภายในปี 2050 จำนวน 125 องค์กร ตลอดจนมีการเสนอผลการดำเนินงานที่บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดของคณะอนุกรรมการเครือข่ายฯ ทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ คณะอนุกรรมการด้าน Implementation & Engagement และคณะอนุกรรมการด้านตลาดคาร์บอน
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ปีงบประมาณ 2568 โดยเน้นย้ำว่าการสื่อสาร (Communication) สร้างการตระหนักรู้ เกี่ยวกับทิศทาง นโยบาย และการดำเนินงาน Climate Action ให้กับภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุน ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ เป็นเรื่องที่ควรเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรต่างๆ ในเครือข่ายฯ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนหรือการสนับสนุนต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ โครงการนำร่องส่งเสริมองค์กรสมาชิกในการดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero และการ Matching Fund จับคู่การลงทุนสีเขียวเพื่อส่งเสริมและผลักดันการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย โดยที่ประชุมเห็นว่า ภาคการเงิน เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero GHG Emissions ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากภาคการเงินเชื่อมโยงทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพิ่มโอกาสในการดำเนินงาน Climate Action ของผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการการสนับสนุนดำเนินงานด้าน เงิน เทคโนโลยี ศักยภาพความพร้อม รวมถึงระบบการบริหารจัดการระบบข้อมูล เพื่อจะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero GHG Emissions ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง