โอลิมปิกปี 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กำลังก้าวสู่ยุคใหม่ของการเป็นการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในประวัติศาสตร์
โอลิมปิกที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพในปีนี้จะเปิดฉากในเดือนกรกฎาคม โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% เทียบกับเกมโอลิมปิกที่ผ่านมา โดยคณะผู้จัดงาน International Olympic Committee (IOC) ต้องการจะทำให้มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากงานโอลิมปิกปีนี้ไม่เกิน 1.5 ล้านตัน ในขณะที่ปีที่แล้วปล่อยไปกว่า 3.5 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งปีของอินเดียและเยอรมนีรวมกัน
ความพยายามดังกล่าวเกิดจากการนำกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาบูรณาการในทุกขั้นตอนการวางแผน โดยยึดแนวทาง ARO (Avoid, Reduce, Offset) คือ หลีกเลี่ยง ลด แล้วชดเชย และเพิ่มขั้นตอนการคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกล่วงหน้าด้วย
รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ติดตามการแข่งขันมีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ครอบคลุมตั้งแต่การปล่อยก๊าซฯ ทางอ้อม เช่น จากการเดินทางของผู้ชม ถือเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่สอดคล้องตามความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กุญแจสำคัญของแผนงานโอลิมปิก 2024 คือ การบังคับใช้นโยบายเศรษฐกิรจะหมุนเวียน ปารีสวางแผนจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ทั้งจากแหล่งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ใหม่ๆ เช่น กังหันลมนอร์มังดีและแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาสถานที่จัดงานในปารีส
นอกจากนี้ยังหลีกเลี่ยงการสร้างสถานที่ใหม่ โดยใช้สถานที่มีอยู่แล้ว 95% เพื่อลดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ โดยมีการสร้างใหม่แบบคาร์บอนต่ำเพียงศูนย์กีฬาทางน้ำและบาสเก็ตบอล อีกทั้งยังมีการเช่าและจัดหาอุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทนการซื้อใหม่ทั้งหมด และภายหลังการแข่งขันจะนำอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์กีฬา อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ และอัฒจันทร์ กว่า 90% จำถูกนำกลับมาใช้ใหม่
ด้านอาหาร ผู้จัดงานปารีส 2024 ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดเลี้ยงอาหาร 13 ล้านมื้อโดยใช้วัตถุดิบจากฟาร์มในท้องถิ่นมากถึง 80% โดยเน้นอาหารจากพืชเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และคาดว่าจะลดของเสียจากอาหารและขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวได้ครึ่งหนึ่ง
ส่วนด้านการขนส่ง มีการขยายการสร้างเลนจักรยานออกไปมากถึง 400 กิโลเมตร พร้อมกับการลดพื้นที่พาหนะสำหรับนักกีฬาลงประมาณ 40% เพื่อใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มที่ ทั้งยังมีแผนให้ใช้ยานพาหนะไฟฟ้า ไฮบริด และพลังงานไฮโดรเจนอีกด้วย และสถานที่จัดการแข่งขันมากกว่า 80% อยู่ห่างจากหมู่บ้านนักกีฬาไม่เกิน 10 กิโลเมตร ช่วยลดเวลาและระยะทางการเดินทางของเหล่านักกีฬา
นอกจากการลดรอยเท้าคาร์บอนแล้ว หลังสิ้นสุดการแข่งขัน ผู้จัดงานมุ่งเน้นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะในชานเมืองตะวันออกเฉียงเหนือของปารีส ศูนย์กีฬาทางน้ำและหมู่บ้านนักกีฬาจะถูกเปลี่ยนให้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ชุมชน มีการวางแผนปลูกต้นไม้ใหม่ 300,000 ต้น และทำความสะอาดแม่น้ำแซนเพื่อให้ปารีสใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต รวมถึงลดมลพิษเสียงจากการจราจร
จอร์จินา เกรนอน ผู้อำนวยการฝ่ายความเป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อมของโอลิมปิกปี 2024 เชื่อว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนบนเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการกีฬาจะช่วยแสดงให้โลกเห็นว่าความเป็นไปได้ในการจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้น
อ้างอิง:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง