environment

'พลาสติกย่อยสลายได้เอง' ทางออกใหม่ ลดขยะพลาสติกล้นโลก

    นักวิจัยคิดค้น 'พลาสติกย่อยสลายได้เอง' ด้วยสปอร์แบคทีเรียกินพลาสติกหลังหมดอายุการใช้งาน ทางออกแก้ขยะล้นเมือง ช่วยลดมลพิษ

 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโกได้พัฒนา "พลาสติกที่ย่อยได้เอง" ซึ่งสามารถช่วยลดมลพิษและปริมาณขยะพลาสติกได้

 

โดยพัฒนาพลาสติกโพลียูรีเทนชนิดพิเศษที่มีสปอร์ของแบคทีเรีย "Bacillus Subtilis" ผสมอยู่ภายใน ทำให้พลาสติกนี้สามารถย่อยสลายตัวเองได้เมื่อหมดอายุการใช้งานและกลายเป็นปุ๋ย

ระหว่างการใช้งาน สปอร์แบคทีเรียจะยังคงนิ่งไม่ทำงาน แต่เมื่อพลาสติกหมดอายุและสัมผัสกับสภาพแวดล้อมเหมาะสม สปอร์จะฟื้นคืนชีพและเริ่มย่อยสลายพลาสติกจากภายในออกมา

 

นายฮันซอล คิม นักวิจัยหลักเบื้องหลังงานวิจัยนี้ระบุว่าทีมมีความหวังที่จะลดมลพิษจากพลาสติกในธรรมชาติด้วยสิ่งนี้ นอกจากนั้น สปอร์ยังช่วยเพิ่มความเหนียวแข็งแรงให้กับพลาสติกด้วย

 

ด้านผู้ร่วมวิจัยระบุว่าด้วยวิธีการนี้เองจะทำให้วัสดุทนทานมากขึ้น จึงสามารถยืดอายุการใช้งาน และเมื่อหมดอายุก็สามารถกำจัดออกจากสิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัย

 

ขณะนี้พลาสติกย่อยสลายได้เองยังอยู่ในขั้นตอนวิจัยการผลิตในห้องปฏิบัติการ แต่คาดว่าจะพร้อมออกสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้ด้วยความร่วมมือจากผู้ผลิตรายต่างๆ  

 

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการบางส่วนเตือนว่าไม่ควรยึดติดหรือคาดหวังกับพลาสติกชีวภาพชนิดนี้เป็นอย่างเดียว ศาสตราจารย์สตีฟ เฟล็ตเชอร์ จากมหาวิทยาลัย Portsmouth ระบุว่า วิธีลดขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการลดการผลิตพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง

 

"ต้องระวังกับวิธีแก้ปัญหาลักษณะนี้ ที่อาจทำให้รู้สึกว่าไม่ต้องกังวลกับมลพิษจากพลาสติกมากนัก เพราะจะย่อยสลายได้เร็ว แต่ความจริงแล้วพลาสติกส่วนใหญ่ไม่ใช่เช่นนั้น" เขากล่าว

 

ทั้งนี้การเจรจาสนธิสัญญาเรื่องพลาสติกของสหประชาชาติครั้งล่าสุดที่แคนาดา มุ่งสู่การทำข้อตกลงระดับโลกเพื่อจัดการปัญหามลพิษพลาสติก โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การลดการผลิตพลาสติกในระดับสากล

 

อ้างอิง: