environment

มลพิษทางอากาศ: เด็กอายุต่ำกว่าห้าปีเสียชีวิตเกือบ 2,000 คนต่อวัน

    สถิติพุ่ง คนเสียชีวิตจาก "มลพิษทางอากาศ" กว่า 8.1 ล้านราย ในแต่ละปีเด็กกว่าครึ่งล้านคนเสียชีวิตจากการสูดอากาศสกปรกเข้าปอด เฉลี่ย 2,000 คนต่อวัน

"มลพิษทางอากาศ" ส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรงต่อผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ข้อมูลล่าสุดจากรายงาน State of Global Air ปี 2021 โดย Health Effects Institute (HEI) เปิดเผยว่า มลพิษทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 8.1 ล้านคนทั่วโลก กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตอันดับสอง แซงหน้าการสูบบุหรี่ และเป็นรองเพียงการเสียชีวิตจากความดันโลหิตสูง

 

รายงานดังกล่าวนำเสนอการศึกษาภาระโรคทั่วโลก ครอบคลุมกว่า 200 ประเทศ ในปี 2021 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ทั้งจาก ฝุ่นละอองขนาดเล็กภายนอกอาคาร PM2.5 มลพิษทางอากาศในครัวเรือน โอโซน (O3) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) 

 

สถานการณ์ยิ่งน่าวิตกสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เนื่องจาก "มลพิษทางอากาศ" เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับสอง รองจากภาวะทุพโภชนาการที่ทำให้เด็กในช่วงวัยดังกล่าวเสียชีวิต โดยในปี 2021 มีเด็กเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศกว่า 700,000 ราย ซึ่งราว 500,000 รายมาจากการหายใจรับมลพิษจากการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษในการปรุงอาหารภายในบ้าน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ในจำนวนนี้อยู่ในแอฟริกาและเอเชีย

 

หนึ่งในสาเหตุหลักของมลพิษในครัวเรือนมาจากการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษ เช่น ชีวมวลและถ่านหินในการหุงต้ม ทำให้เด็กต้องสูดดมควันพิษตั้งแต่อายุยังน้อย และจากข้อมูลพบว่ามีประชากรกว่า 2.3 พันล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงเชื้อเพลิงที่สะอาดได้ 

 

มากกว่า 90% ของการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลก หรือ 7.8 ล้านคน มีสาเหตุมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทั้งจากแหล่งกำเนิดภายนอกและภายในอาคาร โดยมลพิษอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้สามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดและกระแสเลือด ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็งปอด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

 

นอกจากนี้ ปัญหา "มลพิษทางอากาศ" ยังมีความเชื่อมโยงกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและชีวมวลปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจากการขนส่ง โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน กิจกรรมเชิงอุตสาหกรรม ฯลฯ ขณะที่ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก็ยิ่งทำให้ปัญหามลพิษแย่ลง เช่น ไฟป่า ฝุ่นควัน และภัยแล้ง ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยมลพิษสู่อากาศเพิ่มขึ้นอีกทาง

 

ความร้อนจัดในฤดูร้อนอาจทำให้ปัญหามลพิษทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจากก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นโอโซนได้ง่ายขึ้น ซึ่งโอโซนเป็นสารก่อระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งล้านคนในปี 2021

 

นอกเหนือจากสถิติการเสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้คนอีกหลายล้านคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคเรื้อรังอันเกิดมาจากมลพิษทางอากาศที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง สร้างความตึงเครียดอย่างมากต่อระบบการดูแลสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม 

 

คิตตี้ ฟาน เดอร์ ไฮจ์เดน รองผู้อำนวยการบริหารของ UNICEF กล่าวว่า "การเพิกเฉยต่อปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นต่อไปอย่างมาก ทั้งด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ตลอดชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในระดับสากล รัฐบาลและภาคธุรกิจจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบเหล่านี้ และดำเนินการลดมลพิษทางอากาศ ปกป้องสุขภาพของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก"

 

อ้างอิง: