ในช่วงกลางปี 2567 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่อย่างการแพร่ระบาดของ "ปลาหมอคางดำ" สัตว์เอเลี่ยนสปีชีส์ที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อระบบนิเวศและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ปัญหานี้ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องการการแก้ไขและบูรณาการอย่างเร่งด่วน
ปลาหมอคางดำ เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีความสามารถในการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย และมีนิสัยกินทั้งปลาขนาดเล็กและไข่ปลา ส่งผลให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อประชากรสัตว์น้ำพื้นถิ่นและระบบนิเวศโดยรวม นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ล่าสุด ณ วันที่ 17 ก.ค.67 พบว่า "ปลาหมอคางดำ" ได้แพร่ระบาดไปแล้วในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา นครปฐม และนนทบุรี สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศทางน้ำและวิถีชีวิตของชาวประมงในพื้นที่
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความรุนแรงของปัญหานี้ จึงได้กำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วนของกระทรวง พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และได้รายงานสถานการณ์ต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและเตรียมประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งเร่งหาต้นตอการแพร่ระบาด
มาตรการสำคัญเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "ปลาหมอสีคางดำ"
กรมประมงกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสมในการกำจัดปลาหมอคางดำ โดยได้ประกาศอนุญาตผ่อนผันการใช้อวนรุนในบางพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้เปิดช่องทางให้จังหวัดที่มีความต้องการขออนุญาตผ่อนผันการใช้เครื่องมือประมงเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ สามารถเสนอเรื่องผ่านมติที่ประชุมคณะทำงานฯ มายังกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ เพื่อประกาศผ่อนผันตามเงื่อนไขและความเหมาะสม
กรมประมงได้ดำเนินการปล่อยลูกพันธุ์ปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาวและปลาอีกง กว่า 226,000 ตัว ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติใน 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร ราชบุรี และสงขลา เพื่อควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะลูกปลาขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร ทั้งนี้ กรมประมงยืนยันว่าปลาหมอคางดำขนาดโตเต็มวัยไม่สามารถกินลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าขนาด 4 นิ้วที่ปล่อยลงไปได้ และจะมีการเลือกพันธุ์ปลาผู้ล่า พื้นที่การปล่อย รวมถึงจำนวนการปล่อย ให้เหมาะสมกับระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่
เพื่อสร้างแรงจูงใจในการกำจัดปลาหมอคางดำ กรมประมงได้ประสานงานกับภาคเอกชนในการรับซื้อปลาเพื่อนำไปผลิตปลาป่นและน้ำหมักชีวภาพ โดยมีการรับซื้อในราคา 7-10 บาทต่อกิโลกรัม มีปริมาณการใช้ประโยชน์รวมกว่า 510,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 5,022,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ปลาเหยื่อเลี้ยงสัตว์น้ำ และปลาเหยื่อลอบปู โดยกรมประมงจะเร่งหาพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มช่องทางการรับซื้อ และศึกษาวิจัยประโยชน์ในด้านอื่นๆ ของปลาหมอคางดำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต
กรมประมงได้จัดทำระบบแจ้งตำแหน่งการพบปลาหมอคางดำแบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสและติดตามการแพร่กระจายของปลาชนิดนี้
กรมประมงได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เชิงรุกในพื้นที่ 16 จังหวัด (14 จังหวัดที่มีการระบาดและ 2 จังหวัดพื้นที่กันชน) เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น จังหวัดเพชรบุรีได้จัดกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาหมอคางดำ เช่น ปลาส้ม ปลาแดดเดียว และน้ำปลา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชน
นอกจากนี้ยังมีมารตรการการวิจัยและพัฒนา โดยผลักดันการใช้เทคโนโลยีและงานวิจัย เช่น การผลิตปลาหมันเพื่อควบคุมประชากร สนับสนุนการวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรการทางเศรษฐกิจ
โดยนายธรรมนัสได้สั่งการให้เร่งจัดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มจาก 8 บาท ภายใน 1 สัปดาห์ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อจูงใจให้ประชาชนร่วมกำจัดปลาชนิดนี้ โดยเบื้องต้นจะใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในระหว่างที่รอของบกลาง และพิจารณามาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากรายได้ลดลงถึง 10 เท่า
ในแง่ของการแก้ปัญหาในระยะยาว กรมประมงมีแผนดำเนินโครงการวิจัย "การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ" เพื่อควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ โดยจะสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) แล้วปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติ (2n) ซึ่งจะทำให้เกิดลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุด (3n) ที่เป็นหมันและไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ โครงการนี้จะเริ่มทดลองในบ่อจำลองธรรมชาติที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรีก่อน จากนั้นจะทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (กรกฎาคม 2567 - กันยายน 2568)
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นเกี่ยวกับต้นตอของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย โดยกรมประมงได้ชี้แจงว่า ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และได้มีการขออนุญาตนำเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์จากบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ภายหลังบริษัทดังกล่าวยกเลิกการทำวิจัยและไม่ได้แจ้งต่อกรมประมงในการจัดการทำลายตัวอย่างตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการแพร่ระบาดในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังได้สั่งการให้กรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำอย่างเร่งด่วน เพื่อหาต้นตอและข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในเขตบางขุนเทียน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานว่าพบการแพร่ระบาดใน 3 เขตในกรุงเทพมหานครฯ ได้แก่ บางขุนเทียน ทุ่งครุ และบางบอน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรประมาณ 900 ราย ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำ
โดยผู้ว่าฯ ได้แสดงความกังวลว่าการแพร่ระบาดนี้อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่เพียงแต่ต่อเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าปลาหมอคางดำมีความสามารถในการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย และมีนิสัยกินทั้งปลาขนาดเล็กและไข่ปลา
มาตรการรับมือกับปลาหมอสีคางดำของกรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้ประกาศมาตรการเร่งด่วนในการรับมือกับปัญหานี้ โดยเน้นการทำงานร่วมกับกรมประมงอย่างใกล้ชิด
การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ
กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพง
การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์
การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน ลงพื้นที่สำรวจจังหวัดที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง
สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด
การติดตาม ประเมินผลทั้งนี้รวมถึงนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา เช่น การผลิตปลาหมันเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำในธรรมชาติเพื่อให้เป็นหมันไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง