environment

BCPG ติดทำเนียบ ESG100 ต่อเนื่อง 7 ปีซ้อน โดดเด่นรักษ์สิ่งแวดล้อม

    บีซีพีจี ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จากการประเมินหลักทรัพย์จดทะเบียน ปี 2567 โดยสถาบันไทยพัฒน์ เป็นปีที่ 7

นายรวี บุญสินสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นว่า สถาบันไทยพัฒน์ประกาศให้บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ติดอันดับ ESG100 ประจำปี 2567 ด้วยการคัดเลือกจาก 920 หลักทรัพย์จดทะเบียน ให้เป็นบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในกลุ่มทรัพยากร และบริษัทได้เข้าอยู่ในทำเนียบ ESG100 เป็นปีที่ 7 (พ.ศ.2561-2567)

“จากการมุ่งมั่นดำเนินงานอย่างรับผิดชอบ ครอบคลุมทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยยังตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) พร้อมที่จะบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ผ่านการดำเนินงานที่หลากหลาย อาทิ โครงการ Energy for Everyone เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาด กิจกรรมนักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อปลูกฝังแนวคิดเรื่อง Circular Economy ให้กับนักเรียน โดยมุ่งสร้างการมีส่วนร่วม ดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยปณิธานในการสร้างโลกที่น่าอยู่ร่วมกันด้วยพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ การจัดอันดับของสถาบันไทยพัฒน์ พิจารณาข้อมูลจากการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และผลประกอบการของบริษัทฯ ควบคู่ไปพร้อมกัน

BCPG ติดทำเนียบ ESG100 ต่อเนื่อง 7 ปีซ้อน โดดเด่นรักษ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับสถาบันไทยพัฒน์ เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ ได้เปิดเผยรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นครั้งแรกในปี 2558 และได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนและดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 ในปีนี้

ขณะที่ผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,684 ล้านบาท เพิ่มขึ้น136 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการบันทึกรายการกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด

งวดไตรมาส 2 ปี 2567 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,084 ล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการรับรู้รายได้เต็มไตรมาสของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป. ลาว ที่กลับมาดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 และโครงการคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือที่กลุ่มบริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ช่วยปิดผลกระทบจากการสิ้นสุดการได้รับค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (adder) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,243 ล้านบาท เติบโต 518 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากบันทึกกำไรจากการจำหน่ายไปซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2

“บริษัทฯ สามารถปิดดีลจำหน่ายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 9 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 117 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อนำเงินสดที่ได้ไปลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ได้ผลตอบแทนสูงต่อไป”

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 1,959 เมกะวัตต์ โดยเปิดดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้ว 1,183 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างพัฒนา 776 เมกะวัตต์