ปัจจัยส่งเสริมการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิต
1) การตั้งเป้าหมายความยั่งยืนระดับประเทศและระดับองค์กร
ขณะนี้ทั่วโลกได้ตั้งเป้าหมายความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น Net Zero หรือ Carbon Neutrality แล้วทั้งหมด 151 ประเทศ จาก 198 ประเทศ ยังมีเป้าหมายระดับเล็กกว่าประเทศอีก 157 ภูมิภาค (รัฐ/จังหวัด) 257 เมือง และ 968 บริษัททั่วโลก
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตของโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมากตามความต้องการชดเชยคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละประเทศ
เมื่อคาร์บอนเครดิตสามารถถ่ายโอนระหว่างประเทศได้ หมายความว่า ประเทศที่มีกำลังซื้ออาจมีโอกาสซื้อหรือรับโอนเครดิตจากไทย ดังนั้นโครงการคาร์บอนเครดิตในไทยจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการจากต่างประเทศด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้นไม่ได้ "ตกขบวน" การมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน เพราะได้ประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ในปี 2593 และ 2608 ตามลำดับ การจะบรรลุเป้าหมายข้างต้น ไทยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงพร้อมๆ กับเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ให้เกินครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศในปี 2580 เพื่อให้มีความสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย
ดังนั้น กลไกคาร์บอนเครดิตที่มีทั้งโครงการลดคาร์บอนและการเพิ่มพื้นที่ป่าจึงจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในระดับประเทศ
นอกจากการตั้งเป้าหมายระดับประเทศแล้ว องค์กรต่างๆ ก็ตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น หลายองค์กรมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ที่เร็วกว่าเป้าหมายใหญ่ของประเทศด้วย อีกทั้งองค์กรเหล่านี้ได้รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อผลักดันการดำเนินงานร่วมกันเพื่อขยายตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทย เช่น เครือข่าย Thailand Carbon Neutral Network หรือ TCNN ที่มีสมาชิกกว่า 500 องค์กร และ Carbon Markets Club ที่มีสมาชิกองค์กร/บุคคลกว่า 300 ราย
2) ความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียว
ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำกำลังรุดหน้ารวดเร็ว ช่วยให้ตลาดคาร์บอนเครดิตขยายตัวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันมีศักยภาพสูงและราคาลดลงมาก ทำให้องค์กรต่างๆ เปลี่ยนมาใช้ EV ได้ง่ายขึ้น
เช่นเดียวกับพลังงานหมุนเวียนที่ต้นทุนมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ต้นทุนวัสดุอุปกรณ์ที่ลดลง การส่งเสริมการนำมาใช้ และการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) จึงทำให้โครงการคาร์บอนเครดิตจากพลังงานหมุนเวียนเริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นเทคโนโลยีดักจับและกับเก็บคาร์บอนที่มีศักยภาพในการสร้างคาร์บอนเครดิตสูง ถูกนำมาใช้มากขึ้น โดยในไทย ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้จริงในปี 2569
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่จะช่วยยกระดับระบบนิเวศของคาร์บอนเครดิต อาทิ แพลตฟอร์มการวัด คำนวณ และทวนสอบการปล่อยคาร์บอน ที่ทำให้แต่ละองค์กรทราบปริมาณการปล่อยคาร์บอนของตนเอง และปริมาณที่ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชย
รวมถึงแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่กำลังถูกพัฒนาให้มีลักษณะคล้ายตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้การซื้อขายเป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนความเป็นไปได้ของแพลตฟอร์มจัดการธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยบล็อกเชนในไทย
3) การขยายตัวของอุปสงค์และอุปทานคาร์บอนเครดิต
เมื่อประเด็นด้านความยั่งยืนได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในยุทธศาสตร์ขององค์กรต่างๆ จึงทำให้การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของทุกภาคส่วนต้องจริงจังมากขึ้น สะท้อนผ่านมูลค่าตลาดคาร์บอนเครดิตไทยที่พุ่งทะยานจากความต้องการซื้อและต้องการขาย
เมื่อมองไปข้างหน้า อุปสงค์และอุปทานคาร์บอนเครดิตจะเติบโตขึ้นได้จากผู้เล่นที่สำคัญทั้งสองฝ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง