net-zero

ถอดรหัสนโยบาย “พงษ์ภาณุ” ประธาน อบก. ผลักดันคาร์บอนเครดิต

    ถอดรหัสนโยบาย ประธาน อบก. เน้นยกระดับคาร์บอนเครดิตไทย สร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืนสู่อนาคต สนองนโยบายรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ของประเทศไทย หน่วยงานปฏิบัติการ ที่จะต้องสนองนโยบายรัฐบาล และนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ก้าวสู่ยุคใหม่ภายใต้การนำของ "นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์" ประธานกรรมการคนใหม่ ที่มาพร้อมนโยบายที่น่าจับตาเพื่อผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามพันธกรณีความตกลงปารีส 

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กว่า 20ปี ที่ผ่านมา แม้ อบก. จะประสบความสำเร็จในการพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตไทย ทำให้มีโครงการรับรองกว่า 400 โครงการ สามารถสร้างคาร์บอนเครดิตได้ 18 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมกับมีการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับองค์กรและผลิตภัณฑ์กว่า 10,000 รายการ แต่นั่นยังไม่เพียงพอ

ประธานกรรมการ อบก.คนใหม่  ตระหนักดีว่าภารกิจที่ท้าทายกำลังรอคอย โดยเฉพาะการผลักดันระบบกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 

ประเด็นสำคัญที่ อบก. ต้องเร่งดำเนินการ คือ การยกระดับตลาดคาร์บอนของไทยให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะมาถึง

 

ท่ามกลางความท้าทายครั้งใหญ่จากปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องมีการปรับตัวและวางแผนรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 

นโยบายของ "นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์" ประธานกรรมการคนใหม่ จะผลักดันให้ อบก. เดินหน้าพัฒนาระบบราคาคาร์บอนและสร้างตลาดคาร์บอนที่แข็งแกร่ง ยกระดับคาร์บอนเครดิตไทยสู่มาตรฐานสากล เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธาน อบก.

5 ภารกิจ ยุคใหม่ขององค์การบริหารจัดการกา๊ซเรือนกระจก

ยกระดับภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรจึงมีความสำคัญ อบก. ควรทำหน้าที่สร้างการรับรู้และส่งเสริมการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ ไม่เพียงแต่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่ยังเป็นการยกระดับกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานสูงขึ้น เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

สนับสนุนการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจก
โครงการพลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอาจมีข้อจำกัดในการลดก๊าซเรือนกระจก

อบก. ควรสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) มาใช้ แม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะมีต้นทุนสูง แต่หากมีคาร์บอนเครดิตที่เหมาะสม และการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ ก็จะทำให้มีความเป็นไปได้ในการลงทุน

จัดฝึกอบรมและสร้างเครือข่ายการลดก๊าซเรือนกระจก
ในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อบก. ควรจัดฝึกอบรมและพัฒนาทักษะด้านการลดก๊าซเรือนกระจกให้แก่ภาคธุรกิจและประชาชน รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติการ ทั้งในประเทศและระดับโลก เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยอาจพิจารณาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและเอกชน

ส่งเสริมบทบาทของสถาบันการเงินและตลาดทุนในการสนับสนุนธุรกิจคาร์บอนต่ำ
สถาบันการเงินและตลาดทุนมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพคล่องให้ตลาดคาร์บอน และจัดสรรทรัพยากรทางการเงินสู่ "ธุรกิจสีเขียว" และลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ

หาก อบก. สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วยคาร์บอนเครดิต ก็จะช่วยสร้างเงื่อนไขและต้นทุนที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากขึ้น  

พัฒนาประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนในภูมิภาค
 อบก. สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างความเชื่อมโยงตลาดคาร์บอนข้ามพรมแดน รวมถึงส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ