อบก.ชี้คาร์บอนเครดิตคึกคัก ยอดซื้อขายพุ่ง 274 ล้าน

18 พ.ย. 2566 | 07:46 น.
อัพเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2566 | 07:59 น.

อบก.ชี้เอกชนตื่นตัวรับ Net-Zero ยอดสมาชิก TCNN แสดงเจตนาลดปล่อยคาร์บอนฯ พุ่ง 517 ราย ขณะที่ผู้ประกอบการแห่ขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต 371โครงการ มีปริมาณ CO2 ที่ผ่านการรับรองแล้ว 16.95 ล้านตัน ยอดการซื้อขายบอนเครดิตพุ่ง 274 ล้านบาท

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายบรรลุความเป็นกลาง (Carbon Neutrality) ทางคาร์บอนในปี 2593 และสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) ในปี 2608 ส่งผลให้ขณะนี้ภาคเอกชนเกิดการตื่นตัวหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันมากขึ้น

เห็นได้จากเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network: TCNN) ได้มีสมาชิกลงนามเจตนาในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมแล้วถึง 517 องค์กร เป็นเครือข่ายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และสมาชิกได้แสดงความตั้งใจในการที่จะร่วมดำเนินกิจกรรม และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ล่าสุดมีสมาชิกที่ผ่านการรับรองสมาชิกประเภท “องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization หรือ CALO)” จากสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC secretariat ที่พัฒนาหลักเกณฑ์ในการตรวจวัด ลด และชดเชย (optional) จำนวน 52 องค์กรที่ได้มีการดำเนินงานตามเกณฑ์ แบ่งเป็นประเภทโดดเด่น จำนวน 16 องค์กร และในระดับทองแดงขึ้นไป จำนวน 36 องค์กร

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีงบประมาณที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ขึ้นทะเบียนรับรองคาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(T-VER) แล้วจำนวน 371 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ 11,504,675 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เป็นในส่วนของมีโครงการแบบแผนงานจำนวน 7 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ 84,456 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และแบบแยกตามประเภทโครงการ 364 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้/กักเก็บได้ 11,420,219 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ขณะที่มีโครงการได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต ช่วงปีงบประมาณ 2559-2566 ราว 16.95 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จำนวน 155 โครงการ รวมการขอรับรองทั้งหมด จำนวน 308 ครั้ง

อบก.ชี้คาร์บอนเครดิตคึกคัก ยอดซื้อขายพุ่ง 274 ล้าน

ปัจจุบันอบก.ได้พัฒนา “โครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER)” ขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและมีคาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานสากลสอดคล้องกับข้อกำหนดภายใต้ข้อ 6 (Article 6) ของความตกลงปารีส สามารถนำไปชดเชยหรือถายโอนคารบอนเครดิตระหว่างประเทศได้ ปัจจุบันมีโครงการที่ยื่นแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาโครงการ Premium T-VER (Modality of Communication: MoC) แล้วจำนวน 16 โครงการ ที่จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย

 ส่วนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้น พบว่า ช่วงปีงบประมาณ 2559 ถึงปัจจุบัน 2566 มีการซื้อขายแล้วราว 2,981,578 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 274.25 ล้านบาท โดยในช่วงปีงบประมาณ 2567 มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตราว 165,929 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มีมูลค่าราว 55.16 ล้านบาท มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 332.47 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากปีงบประมาณ 2566 ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราว 79.71 บาทต่อตัน โดยปัจจุบันมีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับรองจากอบก.อยู่ในตลาดราว 15.29 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 ขณะที่วิจัยกรุงศรี สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยยังอยู่ในช่วงกว้างในแต่ละประเภทโครงการ ขึ้นอยู่กับการต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ส่วนการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม (FTIX) ยังอยู่ในวงจำกัดและมีราคาขายที่ตํ่า โดยเดือนตุลาคม 2566 มีปริมาณซื้อขายสะสมอยู่ที่ 12,117 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มูลค่าการซื้อขาย 628,150 บาท และยังมีราคาเฉลี่ยที่ตํ่า

ทั้งนี้ แม้ว่าราคาคาร์บอนเครดิตจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีการกำกับดูแลเรื่องราคา หากราคาตํ่าเกินไปจะไม่จูงใจให้เกิดการสร้างคาร์บอนเครดิต และหากราคาที่สูงเกินไปจะทำให้คาร์บอนเครดิตน่าสนใจน้อยลง และผู้ซื้ออาจหันมาลงทุนลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง