กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานการส่งออกข้าวไทยช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 มีปริมาณ 4.60 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 32.18% มูลค่า 106,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.59% จากหลายประเทศผู้นำเข้าข้าวกังวลเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร อินเดียผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1โลกยังมีการควบคุมการส่งออกในกลุ่มข้าวขาว และมีปัจจัยเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วง 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของข้าวไทย ซึ่งทั้งปีนี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ปรับคาดการณ์ส่งออกข้าวจาก 7.5 ล้านตัน เป็น 8 ล้านตัน
อย่างไรก็ดี โลกการค้าในเวลานี้ได้แข่งขันกันในเรื่องสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนตํ่า เพื่อลดภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิต ซึ่งสินค้า “ข้าว” เป็นหนึ่งในสินค้าที่อยู่ในเป้าหมาย
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในภาคการเกษตร กิจกรรมด้านปศุศัตว์ และการปลูกข้าว ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (GHG) มากสุด และทำให้โลกร้อนมากสุด โดยการทำนาข้าวปล่อย GHG สัดส่วน 17% ส่วนปศุสัตว์ปล่อย GHG สัดส่วน 33% ข้อมูลในปี 2565 การทำนาข้าวของไทยที่มีพื้นที่ปลูก 32 ล้านไร่ ปล่อย GHG ปริมาณ 43 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า โดยการปล่อย GHG ของข้าวไทยคิดเป็นสัดส่วน 60% ของปริมาณการปล่อย GHG ของภาคเกษตรกรรมไทย (จากจำนวน 70 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า)
ที่น่าสนใจคือเมื่อเปรียบเทียบการทำนาของไทยกับเวียดนามแล้ว พบว่า นาข้าวเวียดนามปล่อย GHG ต่อภาคเกษตรกรรมน้อยกว่าไทย โดยอยู่ที่สัดส่วน 40% และในปี 2030 (พ.ศ.2573) ข้าวเวียดนามมีแผนการปล่อย GHG ลงเหลือ 36% ของปริมาณ GHG ภาคเกษตรกรรม
“ภาครัฐและเอกชนเวียดนามมีแผนงานและเป้าหมายชัดเจนในการปลูกข้าวคาร์บอนตํ่าในปี 2030 ที่ 10.6 ล้านไร่ และปล่อย GHG ลงเหลือ 36% ของปริมาณ GHG ภาคเกษตรกรรม ส่วนไทยได้มีการตั้งภาคีข้าวคาร์บอนตํ่า แต่ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้อนาคตการแข่งขันส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกน่าห่วง เพราะต่อไปตลาดผู้ซื้อข้าวไม่ได้ถามว่าข้าวคุณจะขายราคาเท่าไร แต่เขาจะถามว่าข้าวคุณปล่อย GHG เท่าไหร่” รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง