แม้ "ข้าวหอมมะลิ" ของไทยจะเป็นข้าวพรีเมี่ยมที่มีชื่อเสียงโด่งดังในตลาดโลกมาอย่างยาวนาน แต่ล่าสุดอันดับราคาถูก "ข้าวหอมผกามะลิ" จากกัมพูชา (Phka Malis) แซงขึ้นมาในอันดับที่ 4 ส่งผลให้ข้าวหอมมะลิของไทยร่วงไปอยู่ที่อันดับ 5 ของโลก
ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2567 ราคาข้าวหอมผกามะลิ (Phka Malis) หรือข้าวหอมกัมพูชา ในตลาดโลกแซงหน้าราคาข้าวหอมมะลิของไทย 3 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้อันดับราคาข้าวกลุ่มข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งจัดอยู่ในข้าวกลุ่มพรีเมียมที่มีราคาสูงในตลาดโลก ร่วงลงจากอันดับ 4 ไปอยู่ที่อันดับ 5 ของโลก
อันดับราคาข้าวหอมในตลาดโลก(ม.ค.-พ.ค. 2567)
เมื่อเปรียบเทียบราคาย้อนหลัง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ในเดือนมีนาคม 2567 ราคาข้าวหอมผกามะลิอยู่ที่ 890.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 886 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
เดือนเมษายน ราคาข้าวหอมผกามะลิอยู่ที่ 909 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 877.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
เดือนพฤษภาคม ราคาข้าวหอมผกามะลิอยู่ที่ 929.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 917 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
หากวิเคราะห์จากราคาข้าวกลุ่มข้าวหอม ย้อนหลังพบว่าอันดับราคาข้าวหอมมะลิที่ขายในตลาดโลกจะอยู่อันดับ 2 มาอย่างต่อเนื่อง เป็นรองเพียงข้าวบาสมาติของอินเดีย
แต่ในปี 2564 อันดับราคาข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดโลกร่วงลงจากที่เคยอยู่ที่อันดับ 2 รองจากข้าวบาสมาติของอินเดีย ลงมาอยู่ที่อันดับ 3 ถูกข้าว ข้าว california calrose rice ของสหรัฐแซงขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 2
ปี 2565-2566 ข้าวหอมมะลิของไทยถูกข้าวบาสมาติของปากีสถาน แซงขึ้นมาอยู่ที่ อันดับ 3 ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิของไทยร่วงลงไปอยู่ที่อันดับ 4
ล่าสุดในปี 2567 ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ราคาข้าวหอมมะลิของไทยร่วงลงไปอยู่ที่อันดับ 5 ถูกราคาข้าวหอมผกามะลิของกัมพูชาแซงขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 4
โดยในปี 2562 ราคาข้าวหอมมะลิของไทยอยู่ที่ 1,211.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปี 2563 อยู่ที่ 1,050.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปี 2564 อยู่ที่ 792.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปี 2565 อยู่ที่ 879.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปี 2566 อยู่ที่ 891 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ราคาข้าวหอมผกามะลิของกัมพูชาแซงหน้าข้าวหอมมะลิไทย มาจากความหอมของข้าวหอมมะลิของไทยหายไป เนื่องจากช่วงหลังมีการนำข้าวหอมจังหวัดมารวมอยู่ในกลุ่มข้าวหอมมะลิทำให้คุณภาพลดลง
นอกจากนี้ที่ผ่านมารัฐบาลของไทยมุ่งเน้นแต่นโยบายประชานิยมไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวทำให้คุณภาพและราคาข้าวของไทยในตลาดโลกลดลง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาในการปรับปรุงคุณภาพข้าวแทนการใช้นโยบายประชานิยม
อีกปัจจัยที่น่าจะส่งผลให้ราคาข้าวหอมผกามะลิของกัมพูชาราคาสูงกว่าข้าวหอมมะลิของไทย มาจากปัจจัยทางจิตวิทยาที่รัฐบาลประกาศว่าจะระบายข้าวหอมมะลิเก่า 10 ปีในโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ผู้ซื้อเกิดความกังวลใจ หากมีการประมูลเสร็จและมีการส่งออกจริงอาจกระทบกับราคาข้าวหอมมะลิหนักกว่านี้