นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (18 มิ.ย. 67) มีมติเห็นชอบ ร่างบันทึกความร่วมมือว่าด้วยกลไกเครดิตร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น และมอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทน เป็นผู้แทนฝ่ายไทยลงนามใน ร่างบันทึกความร่วมมือฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
ทส. รายงานว่าผลการดำเนินงานและปริมาณคาร์บอนเครดิตภายใต้ร่างความร่วมมือทวิภาคีฯ ที่ผ่านมา โครงการในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นและต้องแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการดำเนินโครงการให้กับฝ่ายญี่ปุ่นเป็นการตอบแทน รวมจำนวน 53 โครงการ
ปัจจุบันมีการรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 5 โครงการ รวม 4,032 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้แบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้กับฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว จำนวน 2,017 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ร้อยละ 50 ของคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง)
คณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ฝ่ายไทย และคณะกรรมการร่วม (ไทยและญี่ปุ่น มีมติเห็นชอบ (ร่าง) บันทึกความร่วมมือฯ ซึ่งจะนำมาใช้แทนความร่วมมือทวิภาคีฯ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ร่างบันทึกความร่วมมือฯ มีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งกลไกเครดิตร่วม Joint Crediting Mechanism (JCM) เพื่อส่งเสริมการลงทุนและใช้เทคโลโลยีชั้นนำในการลดการปล่อยคาร์บอน ส่งเสริมการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย โดยคาร์บอนเครดิตส่วนหนึ่งที่เป็นผลจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายใต้ ร่างบันทึกความร่วมมือฯ อาจนำไปเป็นผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศญี่ปุ่นในรูปแบบของผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศ (internationally transferred mitigation outcomes : ITMOs)
ทั้งนี้ ร่างบันทึกความร่วมมือฯ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐบาลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยุติ ร่างบันทึกความร่วมมือฯ โดยแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน
2.Rules of Implementation for the Joint Crediting Mechanism (JCM) track under Premium T-VER (กฎเกณฑ์ของการดำเนินงานกลไกเครดิตร่วมภายใต้ Premium T-VER) และ Rules of Implementation for the Joint Crediting Mechanism (JCM) for Existing Projects เป็นกฎเณฑ์การดำเนินงานกลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism : JCM) สำหรับโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้ว เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมผู้ตรวจประเมินโครงการ การพัฒนาระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะใช้คำนวณปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจกรรมโครงการ การรับรองผู้ตรวจประเมินโครงการ
ทำหน้าที่ตรวจสอบความใช้ได้ของเอกสารข้อเสนอโครงการที่จะนำไปใช้ขอขึ้นทะเบียนโครงการและตรวจสอบความถูกต้องของปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจกรรมโครงการ และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ โดยเป็นข้อกำหนดสำหรับโครงการที่จะดำเนินงานในอนาคต ซึ่งผู้พัฒนาโครงการต้องขอขึ้นทะเบียบโครงการเป็นโครงการ JCM ภายใต้ Premium T-VER และรับรองคาร์บอนเครดิตกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) แทนคณะกรรมการ่วม รวมทั้งเป็นข้อกำหนดสำหรับโครงการที่คงค้างอยู่ในระบบ ซึ่งผู้พัฒนาโครงการขอขึ้นทะเบียบโครงการเป็นโครงการ JCM และรับรองคาร์บอนเครดิตกับคณะกรรมการร่วม
3. Rules of Procedures of the Joint Committee for the Joint Crediting Mechanism (ระเบียบวิธีปฏิบัติของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) สำหรับกลไกเครดิตร่วม เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการร่วม หน้าที่ของฝ่ายเลขานุการ การจัดประชุมคณะกรรมการร่วม วิธีการลงมติของคณะกรรมการ่วม ผู้เข้าร่วมประชุม การจัดประชุม ภาษาที่ใช้ในการจัดประชุม การจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยในการดำเนินกลไก การรักษาความลับและการเผยแพร่มติของคณะกรรมการร่วมสู่สาธารณะ ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐบาลญี่ปุ่น รัฐบาลไทย และบุคคลอื่นที่ได้รับการแต่งตั้งจากแต่ละฝ่าย รวมจำนวนฝ่ายละไม่เกิน 10 คน
ประโยชน์ที่จะได้รับ กลไกเครดิตร่วม (JCM) เริ่มดำเนินงานนับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ทำให้ผู้พัฒนาโครงการในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อใช้ในการก่อสร้าง จัดซื้อ/ติดตั้งเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำที่ทันสมัย หรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวน 2,855 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนรวม 9,084 ล้านบาท และยังทำให้เกิดการจ้างงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย
โดยประเทศไทยต้องถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการร้อยละ 50 ให้กับฝ่ายญี่ปุ่นเป็นการตอบแทน คณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ฝ่ายไทยจึงได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับปรับแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ ดังนี้
คัดเลือกโครงการที่มีคุณลักษณะครบถ้วนตามข้อกำหนดของแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และผู้พัฒนาโครงการต้องได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และกำหนดให้แบ่งปันคาร์บอนเครดิตกับฝ่ายญี่ปุ่นในสัดส่วนเดียวกับสัดส่วนเงินสนับสนุนจากฝ่ายญี่ปุ่นต่อเงินลงทุนของโครงการ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยหลังจากปรับบัญชีก๊าซเรือนกระจกแล้วมีค่าลดลง
กำหนดให้ผู้พัฒนาโครงการต้องขอขึ้นทะเบียนโครงการและขอรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการตามมาตรฐานขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) แทนการขอขึ้นทะเบียนและขอรับรองคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่จะมีการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศอื่นเป็นไปอย่างมีเอกภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง