นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.มีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยใช้กลไกสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินรวม 1,500 ล้านบาท หรือกรีนโลน (Green Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือโดย กนอ. จะมีโครงการฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการสามารถรับรู้แนวทางการเปลี่ยนผ่านกิจการไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน (คาร์บอนแคมป์) เพื่อเตรียมการในการยื่นขอสินเชื่อได้
ความร่วมมือดังกล่าวนั้น กนอ. จะจัดคาร์บอนแคมป์ และจะนำเรื่องกรีนโลนไปนำเสนอด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ และหากรายใดพร้อม และเป็นไปตามเงื่อนไขที่ ธพว. กำหนดก็สามารถที่จะยื่นขอได้เลย อีกทั้งในอนาคต กนอ. จะมีการร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการช่วยเหลือ SMEs โดยจะมีวงเงินอีกหนึ่งก้อนมาช่วยเหลือ
นางบุปผา ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ล่าสุดได้มีการลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครซึ่งได้มีการนำระบบ Digital Twin มาใช้เป็นนิคมฯแรกในประเทศไทย โดยเป็นการสร้างแบบจำลองเสมือนจริงของวัตถุหรือสภาพแวดล้อมในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ กนอ. สามารถจำลองสถานการณ์ต่างๆ และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการและการตัดสินใจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแบบจำลอง 3 มิติของพื้นที่และอาคาร รวมถึงติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบน้ำประปาและน้ำเสีย ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบไฟส่องสว่าง และระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม และจากความสำเร็จในการนำร่อง
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2567 กนอ.จะมีแผนขยายผลการพัฒนาระบบ Digital Twin ไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นที่ กนอ. ดูแลรวม 13 แห่ง โดยจะเชื่อมโยงระบบ IoT ต่าง ๆ เข้ากับ Digital Twin เพื่อให้สามารถบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการในระยะที่ 2 (2566-2569) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
"โครงการนำร่องที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า Digital Twin ไม่ใช่เพียงแค่เทคโนโลยี แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อน กนอ. สู่การเป็นองค์กรที่ทำงานด้วยระบบดิจิทัลอย่างแท้จริง ด้วยการสร้างแบบจำลองเสมือนของนิคมฯ ทั้งระบบสาธารณูปโภคและโรงงาน กนอ. สามารถตรวจสอบ ติดตาม และบริหารจัดการทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที"
ขณะที่ความคืบหน้าในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสินสาครนั้น ปัจจุบันได้รับการรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-Champion โดยอยู่ระหว่างยกระดับสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ Eco-Excellence และยกระดับการมีส่วนร่วมบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ที่ลงทุนในพื้นที่ ได้แก่อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ต่อเนื่อง และกลุ่มสิ่งพิมพ์แพคเกจจิ้งและผลิตภัณฑ์สำหรับใช้บรรจุอาหาร ขณะที่พื้นที่เฟส 2 เป็นกลุ่มอุตสหากรรมทั่วไป ด้านอาหารและยา
"นิคมอุตสาหกรรมสินสาครเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ บริษัท ซี.เอ.เอส แอสเซท จำกัด มีพื้นที่ 1,698 ไร่ และอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง